นครสวรรค์ 27 ก.ย.-จ.นครสวรรค์ จุดเริ่มต้นของแม่น้ำเจ้าพระยาที่รับน้ำจากพื้นที่ภาคเหนือ ขณะนี้มี 4 อำเภอได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรม ชุมชนในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากได้นำบทเรียนปี 2554 มาปรับใช้พร้อมรับสถานการณ์ ขณะที่เทศบาลเมืองนครสวรรค์มั่นใจปีนี้ไม่วิกฤติซ้ำเหมือนปี 2554
มวลน้ำจำนวนมากที่ไหลมาจาก จ.พิจิตร กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ ไหลมาสมทบและไหลบ่าเข้ามาถึง จ.นครสวรรค์ ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำปิง และแม่น้ำเจ้าพระยา ปรับสูงขึ้นจนเอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมชุมชน แล้วกว่า 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ลาดยาว บรรพตพิสัย เก้าเลี้ยว และท่าตะโก โดยเฉพาะ ต.เกรียงไกร อ.เมือง แห่งนี้จะเป็นพื้นที่แรกที่ได้รับผลกระทบก่อนพื้นที่อื่น
ในปี 2554 พื้นที่ ต.เกรียงไกร ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์น้ำท่วมหนักที่สุด ระดับน้ำสูงถึงเกือบ 6 เมตร ชาวบ้านต้องอยู่กับน้ำนานกว่า 4 เดือน ทำให้ชาวบ้านกว่า 30 ครัวเรือน นำบทเรียนในปี 2554 ปรับตัวกับสถานการณ์ ด้วยการดีดบ้านสูงขึ้น ทำสะพานไม้และเตรียมเรือไว้ใช้ ในช่วงที่น้ำหลากและท่วมสูงขึ้น
ด้านนายกเทศบาลเมืองนครนครสวรรค์กล่าวว่า ปีนี้ได้มีการนำเครื่องสูบน้ำระบบไฟฟ้ามาใช้ติดตั้งแล้วเสร็จจำนวน 2 เครื่อง สามารถระบายน้ำได้ถึงวันละ 145 ลูกบาศก์เมตร จากเดิมจะต้องใช้เครื่องสูบน้ำระบายน้ำได้เพียงไม่ถึง 100 ลูกบาศก์เมตร และยังเตรียมเครื่องสูบน้ำทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก อย่างละ 40 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำท่วมขัง มั่นใจปีนี้รับมือสถานการณ์น้ำได้
นอกจากนี้ จ.นครสวรรค์ ยังมีหน่วยป้องกันสาธารณภัยสายด่วน 199 มีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว พร้อมออกปฏิบัติการช่วยเหลือชาวบ้านทันที.-สำนักข่าวไทย