อุทัยธานี 14 พ.ค. – วันที่ 14 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์ควายไทย มีเกษตรกรจังหวัดอุทัยธานี รื้อฟื้นการเลี้ยงควายพื้นเมืองกันมากขึ้น ควายอุทัยธานีมีลักษณะเฉพาะเนื่องจากมีเชื้อควายป่าห้วยขาแข้ง ขณะนี้ปศุสัตว์จังหวัดส่งเสริมเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เบื้องต้นเลี้ยงเพื่อเพิ่มจำนวนแม่พันธุ์ให้มีเพียงพอก่อน จากนั้นจึงจะทำตลาดเนื้อบริโภค
“โตโน่” เป็นควายลุ่มน้ำสะแกกรัง อายุเพิ่ง 22 เดือน แต่โครงสร้างสูงใหญ่ กว้างและลึก หนักกว่าครึ่งตัน ควายอุทัยธานีเป็นควายปลัก มีเชื้อพันธุ์จากควายป่าในห้วยขาแข้งมาผสมตั้งแต่อดีต ลักษณะเฉพาะคือมีตาแต้ม แก้มจ้ำ อ้องคอขาว และมีถุงเท้า
เจ้าของคอกควายดอนมะยม กล่าวว่า ที่ “โตโน่” โดดเด่นกว่าตัวอื่น เพราะได้น้ำเชื้อจากควายพื้นเมืองประกวดได้ที่ 1 ของประเทศ ซึ่งกรมปศุสัตว์แช่แข็งไว้ 20 ปี มาผสมกับแม่พันธุ์ควายอุทัยธานี เมื่ออายุถึง 6 ปี ควายโตเต็มที่ น้ำหนักอาจถึงตันครึ่ง
กรมปศุสัตว์ได้ร่วมมือกับเฮงฟาร์มควายไทย พัฒนาการผลิตน้ำเชื้อที่ตรวจรับรองมาตรฐานทั้งความเข้มข้นและปลอดโรค แล้วจัดสรรงบให้ซื้อน้ำเชื้อพันธุ์ดีมอบแก่หน่วยผสมเทียม 7 หน่วย นำไปผสมปรับปรุงพันธุ์ควายพื้นบ้านอุทัยธานี รวมถึงแจกจ่ายเกษตรกร
ราว 30 ปีก่อน อุทัยธานีมีตลาดนัดวัว-ควายที่ใหญ่ที่สุดในเอเซีย ที่นี่มีชื่อเสียงว่าควายตัวใหญ่ให้เนื้อมาก เกษตรกรมักขายควายตัวใหญ่ เพราะบังคับทำงานยากกว่าตัวเล็ก ทำให้ลักษณะเด่นใกล้จะสูญหายไป กรมปศุสัตว์จึงจะพัฒนาสายพันธุ์ให้กลับดีขึ้นกว่าเดิมแล้วจึงค่อยเปิดเป็นตลาดเนื้อในอนาคต
กลุ่มผู้เลี้ยงควายอุทัยธานี มีสมาชิก 631 ราย กำลังจะได้รับการรับรองเป็นแปลงใหญ่กระบืออุทัยธานี ในอดีตจำนวนควายที่นี่มีมากถึง 50,000 ตัว ปัจจุบันเหลือเพียง 17,000 ตัว เพศผู้ 9,000 ตัว เพศเมีย 8,000 ตัว มีเป้าหมายจะเพิ่มแม่พันธุ์ให้ได้ 24,000 ตัว หรืออีก 3 เท่าตัว ให้ได้ในอีก 3 ปีข้างหน้า จึงจะเพียงพอที่จะเริ่มพัฒนาตลาดควายขุนต่อไป. – สำนักข่าวไทย