นครปฐม 10 พ.ค. – ที่ อ.พุทธมณฑล สำนักงานเกษตรจังหวัดนครปฐม และเกษตรอำเภอ ส่งเสริมเกษตรกรรายหนึ่งที่ปลูกกุยช่าย พัฒนาแปลงของตนเองเป็นเกษตร GAP ซึ่งลดการใช้สารเคมีได้ และปลอดภัยทั้งผู้ปลูกและผู้บริโภค
เกษตรกรใน อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม รายนี้ปลูกกุยช่าย 5 ไร่ ทำมาได้ 20 ปีแล้ว ที่เลือกปลูกกุยช่าย เพราะปลูกครั้งหนึ่งอยู่ได้นาน 3-3 ปีครึ่ง ต่างจากพืชผักอื่น ซึ่งเมื่อเก็บผลผลิตแล้วต้องปลูกใหม่ทุกครั้ง
ป้ามาลัย ลาภเสริมส่ง กล่าวว่า กุยช่ายชอบฝน จะให้ผลผลิตดี 2 วันตัดครั้ง ได้ 100-120 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 30-40 บาท แต่หากในฤดูร้อนหรือฤดูหนาว ต้นและดอกจะไม่ค่อยแตกค่อยงาม ผลผลิตน้อย ข้อดีอีกประการหนึ่งของกุยช่าย คือ ปลูกแล้วเก็บขายได้ทั้งต้นทั้งดอก สลับกันไป
กุยช่ายมีศัตรูพืชน้อยกว่าพืชผักอื่น เนื่องจากมีกลิ่นฉุน แมลงไม่ชอบ แต่จะพบหนอนชอนใบได้บ้าง รวมถึงโรคจากเชื้อรา เพราะต้นขึ้นแน่นหนา จำเป็นต้องใช้สารเคมีช่วยกำจัดและรักษา
นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอพุทธมณฑล กล่าวว่า ตามยุทธศาสตร์ของกรมส่งเสริมการเกษตร คือ ส่งเสริมการปลูกพืชผักปลอดภัย จึงได้เข้ามาดูแลและให้คำแนะนำเกษตรกร เพื่อให้ผลิตกุยช่ายแบบปลอดภัยจากสารพิษ เริ่มตั้งแต่ดินและน้ำ รวมถึงการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องเหมาะสม
จ.นครปฐม เป็นแหล่งปลูกพืชผักที่สำคัญของภาคกลาง นโยบายของจังหวัดสอดคล้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการพัฒนาการผลิตอาหารปลอดภัย จึงให้สำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอ ส่งเสริม ควบคุม และดูแลอย่างเคร่งครัด เพื่อยามที่ผู้บริโภคนึกถึงวัตถุดิบที่ดีต่อสุขภาพ ต้องนึกถึง จ.นครปฐม. – สำนักข่าวไทย