รฟท. 29 ก.ย. – สมคิด มอบนโยบาย รฟท. เร่งเปิดประมูลทางคู่ 7 เส้นทางภายในปีนี้ กำชับเดินหน้ารถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ส่วนต่อขยาย พร้อมจัดทำแผนแม่บท 10 ปี เพื่อบริหารสินทรัพย์ พัฒนาบุคลากรและสร้างได้
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแก่คณะผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ว่า ได้มอบให้ รฟท. เร่งเดินหน้าโครงการรถไฟทางคู่ ระยะแรก 7 เส้นทาง ระยะทาง 995 กม. โดยโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางจิระ และ เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ซึ่งผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้เริ่มดำเนินการแล้ว คาดจะสามารถเปิดประมูลได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ส่วนเส้นทางที่เหลือ คาดจะผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีทั้งหมดภายในปีนี้
ขณะที่โครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 ที่มี 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,493 กม.คาดจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2560 โดยจะเริ่มในเส้นทางพื้นที่ภาคเหนือและใต้ก่อน ได้แก่ เส้นทางเด่นชัย-เชียงของ วงเงินลงทุน 77,000 ล้านบาท และเส้นทางบ้านไผ่-นครพนม เงินลงทุน 60,000 ล้านบาท พร้อมมองว่ารถไฟทางคู่จะช่วยพัฒนาระบบโลจิสติกส์ไทยให้ดียิ่งขึ้น
ส่วนความคืบหน้าการปรับปรุงร่างทีโออาร์นั้น เบื้องต้นจะเปิดกว้างให้มีการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ คณะกรรมการต้องมีความเป็นธรรม เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างมีความโปร่งใส โดยคาดว่าร่างทีโออาร์จะแล้วเสร็จและเสนอต่อคณะกรรมการ รฟท. ได้กลางเดือนหน้า
นอกจากนี้นายสมคิดได้กำชับให้รฟท. เร่งดำเนินการโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต คาดจะสามารถเปิดเดินรถได้ภายในปี 2563 และส่วนต่อขยายในอนาคต จะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนภายใต้แผน PPP เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้เร็วขึ้น
ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ–หัวหิน ระยะทาง 211 กม. 94,600 ล้านบาท และ โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ–ระยอง ระยะทาง 193.5 กม. มูลค่าโครงการรวมกว่า 152,000 ล้านบาท ได้กำชับให้กรมทางหลวงดูพื้นที่ตลอดแนวสองเส้นทางเพื่อพัฒนาเชิงพาณิชย์ พร้อมย้ำให้กระทรวงคมนาคมเร่งเสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในปีนี้
ทั้งนี้ นายสมคิดได้กำชับให้ รฟท. จัดทำแผนแม่บทระยะยาว 10 -15 ปี ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การบริหารรัฐวิสาหกิจของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อบริหารสินทรัพย์ พัฒนาบุคลากร และสร้างรายได้ให้กับองค์กร โดยปัจจุบัน รฟท. มีสินทรัพย์ 600,000 ล้านบาท แต่มีผลขาดทุนสะสม 80,000 ล้านบาท จึงเสนอให้มีการนำพื้นที่ของ รฟท. ใน Prime Area มาพัฒนาเพื่อให้เกิดประโยชน์- สำนักข่าวไทย