กรุงเทพฯ 30
เม.ย.-ภาคเอกชนและนักวิชาการเรียกร้องรัฐบาลประมูล “อราวัณ-บงกช”ตามแผนหวั่นโรคเลื่อน
หาก มีผู้ฟ้องร้อง ชะลอประมูล จะกระทบเศรษฐกิจทุกด้านรวมกว่า
4.5 แสนล้านบาท/ปี ค่าไฟพุ่ง 18 สตางค์ต่อหน่วย
นายบวร วงศ์สินอุดม
รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยในงานเสวนา “บงกช
เอราวัณ ล่าช้า ตัดโอกาส ลดศักยภาพ เศรษฐกิจไทย” ว่า การประมูลแหล่งก๊าซฯเอราวัณและบงกชถือว่าล่าช้าไปมาก
ภาครัฐทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือเพราะเดิมประกาศว่าจะประมูลเสร็จตั้งแต่ปี 2559
แต่ล่าสุดจะได้ผู้ชนะและลงนามในสัญญาก.พ.2562 ซึ่งก็ไม่เชื่ออีกว่าจะเสร็จทันตามที่กำหนดไว้ เพราะจะมีผู้คัดค้านจนนำไปสู่การเลื่อนระยะเวลาอออกไปอีก
ดังนั้น รัฐต้องเร่งสร้างความเชื่อถืออย่าให้ล่า ช้า เพราะไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อเศรษฐกิจกว่า 4.5 แสนล้านบาทปี กระทบทั้งภาคประชาชน เพราะค่าไฟฟ้าจะสูงขึ้น
กระทบอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และการลงทุนในระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)ก็จะไม่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ทั้ง 2แหล่งก๊าซฯผลิตขณะนี้ 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันคิดเป็นร้อยละ 50 ของการใช้ในประเทศขณะที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี
2565-66 ซึ่ง กรณีเลวร้ายถ้าก๊าซฯหายไปหมดจะเท่ากับโรงไฟฟ้าหายไป 10 โรง
ต้องนำเข้าเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)เข้ามาซึ่งแพงกว่าราคาก๊าซฯในประเทศเช่นกรณีคิดที่
10 เหรียญฯต่อล้านบีทียูจะกระทบค่าไฟให้เพิ่มขึ้น 18 สตางค์ต่อหน่วย ที่สำคัญคลังรับก๊าซแอลเอ็นจีก็ไม่เพียงพอ
“การขุดเจาะแหล่งปิโตรเลียมกว่าจะสำรวจจนถึงการผลิตจะใช้เวลา 3-5
ปีแต่ระยะเวลาสัมปทานของ 2 แหล่งจะหมดในปี 2565-66 เวลากระชั้นมาก โดยภาพรวม รายเดิมคือ เฟชรอนฯและ
ปตท.สผ. มีประสบการณ์ ที่อาจชนะการประมูล แต่ก็จะถูกครหาอีกแล้วก็จะถูกต่อต้านและการฟ้องร้องอาจตามมา
ส่วนตัวอยากเห็นบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(ปตท.สผ.)ชนะเพราะเป็นรัฐวิสาหกิจรัฐถือหุ้นใหญ่”นายบวรกล่าว
นายฐิติศักดิ์ บุณปราโมทย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้การผลิตนักศึกษาของภาควิชาวิศวกรรมปิโตรเลียมลดจากผลิตปีละ
20 คนขณะนี้เหลือ 10 คน ผลจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง
และการลงทุนปิโตรเลียมในประเทศลดลง ขณะเดียวกันวัตถุดิบต้นน้ำอย่างหิน ปูนซีเมนต์แนวโน้มก็จะเกิดปัญหาไม่เพียงพอเช่นกันเพราะพ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่รัฐยังไม่กำหนดเขตพื้นที่เหมืองที่ชัดเจนทำให้แหล่งต่างๆ
ที่ใกล้จะหมดอายุจะไม่สามารถดำเนินการผลิตต่อได้
นายภูวดล สุนทรวิภาค
ตัวแทนผู้ประกอบการด้านผลิตและสำรวจปิโตรเลียมในประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้แท่นขุดเจาะใหม่ลดการลงทุนไปร้อยละ
50 ธุรกิจผลิตแท่นก็มีการปลดพนักงานไปแล้ว
2,000 คน เป็นต้นยังไม่รวมกับโรงแรม ร้านอาหาร
ฯลฯที่เป็นธุรกิจต่อเนื่อง ซึ่งรัฐต้องเข้าใจว่าธุรกิจนี้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำนั้นเป็นห่วงโซ่ที่ยาวมากสำคัญไม่น้อยไปกว่าอุตสาหกรรมยานยนต์
และส่วนใหญ่ใช้แรงงานคนไทย ดังนั้น
ก็อยากเห็นการประมูลเดินหน้าตามแผนอย่าได้ล่าช้าอีก –สำนักข่าวไทย