โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น 25 เม.ย.-รองประธาน สนช. เผยคุณสมบัติผู้ตรวจการแผ่นดินที่ สนช. หวัง จะต้องมีความชำนาญ กล้าหาญ เที่ยงธรรม อย่างเป็นที่ประจักษ์
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บรรยายพิเศษ หัวข้อ “มุมมองและความคาดหวังของสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อบทบาทหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน” ในงานสัมมนาของสำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่อง “ผู้ตรวจการแผ่นดิน : บทบาทใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ภารกิจผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ สนช. คาดหวังนั้น คือ หวังว่าผู้ตรวจการแผ่นดิน จะตรวจตรากิจการของแผ่นดิน เพื่อความผาสุกของประชาชน และ สนช.ยังคาดหวังว่าจะให้มีผู้ตรวจการแผ่นดินครบ 3 คนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่ที่สุดก็ไม่ผ่านการพิจารณาของ สนช.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ยืนยันว่า สนช.รักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินอย่างดีที่สุด โดยเฉพาะการให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ ที่ไม่ได้พิจารณาดูเฉพาะคุณลักษณะ หรือลักษณะต้องห้ามเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีความเหมาะสมในการทำหน้าที่ระยะยาวด้วย
นายสุรชัย ยังกล่าวถึงคุณลักษณะของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ สนช. ต้องการ ว่า จะต้องมีความรู้ ที่มาจากความเชี่ยวชาญ ที่เป็นประสบการณ์สั่งสมมาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดความชำนาญในกิจการนั้น ๆ รวมถึงจะต้องมีความกล้าหาญ สามารถยืนหยัดการทำหน้าที่ได้ โดยปราศจากอคติ เพราะการเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน จะต้องปฏิบัติงานท่ามกลางความขัดแย้ง แม้จะไม่เคยมีประวัติด่างพร้อย แต่ถ้าไม่เคยแสดงออกถึงความเที่ยงธรรม ความกล้าหาญให้เป็นที่ประจักษ์ได้ ก็น่าหนักใจที่ สนช.จะให้ความเห็นชอบ
“รัฐธรรมนูญปี 2560 ปรับเปลี่ยนหลักการสำคัญให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทำงานเชิงรุกมากขึ้น เริ่มต้นโดยมีหน้าที่เสนอแนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงกฎหมายที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและเป็นภาระแก่ประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่ที่เกี่ยวโยงกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 ที่ให้มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น โดยส่วนตัวพบว่า ปัจจุบันแต่ละกระทรวงที่เสนอร่างกฎหมายมักใช้แค่การเผยแพร่ในเว็บไซต์ของกระทรวง เพื่อให้ประชาชนเข้ามาแสดงความเห็นในเว็บไซต์ แต่มีคนเข้ามาดูแค่หลักร้อยคนเท่านั้น ทั้งที่กฎหมายต้องบังคับใช้กับประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้นจึงอยากให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาและติดตามความเคลื่อนไหวของการเสนอร่างกฎหมายของหน่วยงานต่าง ๆ และการพิจารณาร่างกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ จากนั้นก็ประเมินผลการบังคับใช้กฎหมายว่าเป็นไปตามที่ผู้เสนอกฎหมายได้วิเคราะห์ไว้ได้หรือไม่ หากไม่เป็นไปตามนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินก็มีหน้าที่ที่ต้องเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” นายสุรชัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย