กรุงเทพฯ 24 เม.ย. – “กัลฟ์” เตรียมยื่นอุทธรณ์ กกพ. เพื่อนำเข้าแอลเอ็นจี ยืนยันไม่ขัดสัญญาเดิมกับ ปตท. ขณะที่ รมว.พลังงานชี้ผู้ประกอบการสามารถยื่นเรื่องนำเข้าได้ตลอด เพราะคลังมาบตาพุดยังเหลือให้นำเข้าอีก 4.8 ล้านตัน/ปี
นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) กล่าวว่า บริษัทเตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จากที่ได้ยื่นเรื่องไปเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งแอลเอ็นจี (shipper) ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เพื่อรองรับการใช้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าและใช้ในภาคอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบมจ.ปตท. (PTT) ที่ได้รับสิทธิการนำเข้าแอลเอ็นจี
“บริษัทต้องการนำแอลเอ็นจี เพื่อมาใช้ในโรงไฟฟ้า SPP ของบริษัทที่มี 12 โรง และยังมีช่องว่างให้สามารถทำสัญญาซื้อก๊าซฯ เพิ่มอีก จากปัจจุบันมีสัญญาซื้อก๊าซฯ ปตท.ร้อยละ 80 เท่านั้น ส่วนสัญญาซื้อขายก๊าซฯ สำหรับโครงการ IPP ใหม่ 5,000 เมกะวัตต์นั้น บริษัทได้ทำสัญญาซื้อขายก๊าซฯ จาก ปตท.แล้ว ก็จะยังคงสัญญาดังกล่าวอยู่ โดยไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด” นายสารัชถ์ กล่าว
นายสารัชถ์ กล่าวว่า การนำเข้าแอลเอ็นจียังจะนำมาจำหน่ายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมที่บริษัทได้ร่วมกับกลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) และพันธมิตร เพื่อทำธุรกิจจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 2 และนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 4
ก่อนหน้านี้นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า การนำเข้าแอลเอ็นจีในอนาคตจะเป็นรูปแบบการเปิดแข่งขันนำเข้า โดยคลังมาบตาพุดของ ปตท. 11.5 ล้านตัน ปัจจุบันมีการอนุมัติสัญญานำเข้าระยะยาว หรือ Long term แล้วรวม 6.7 ล้านตัน/ปี แบ่งเป็นของ ปตท. 5.2 ล้านตัน/ปี และ กฟผ. 1.5 ล้านตันต่อปี ดังนั้น จึงเหลือ 4.8 ล้านตันที่สามารถเปิดให้ทุกรายยื่นขอนำเข้าได้ ทั้งเพื่อผลิตไฟฟ้า เพื่ออุตสาหกรรมและการขนส่ง
ปัจจุบัน GULF มีกำลังผลิตไฟฟ้า 6,329 เมกะวัตต์ ผลิตแล้วหรือ COD 2,120 เมกะวัตต์ และบริษัทยังเตรียมขยายการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ล่าสุดประมูลโรงไฟฟ้าในโอมานที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง คาดจะรู้ผลเดือนมิถุนายนนี้ ขณะเดียวกันร่วมกับพันธมิตรศึกษาความเป็นไปได้โรงไฟฟ้าก๊าซฯ ในสหรัฐ ขนาดกว่า 1,000 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนประมาณ 10,000-20,000 ล้านบาทด้วย. -สำนักข่าวไทย