รัฐสภา 24 เม.ย.-กก.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ เห็นพ้องให้โอนงานธุรการที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของตำรวจให้องค์กรปกครองท้องถิ่น โดยยังคงงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและงานสอบสวนไว้ ย้ำการถ่ายโอนต้องไม่กระทบประชาชนและต้องไม่เป็นภาระงบประมาณ
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2 ซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นประธาน เมื่อวานนี้ (23 เม.ย.) ที่ประชุมได้พิจารณาถึงภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเน้นไปที่การถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่งานตำรวจแท้เป็นหลัก และมีข้อสรุปเป็นพื้นฐานว่า แก่นแท้ของงานตำรวจ คือ การรักษาความสงบเรียบร้อย การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม การนำบุคคลที่กระทำความผิดทางอาญามาสู่กระบวนการยุติธรรม ถือเป็นงานหลักที่ต้องรักษาไว้ ส่วนงานที่นอกเหนือไปจากนี้ที่มีลักษณะเป็นงานบริการประชาชน งานทะเบียน งานจัดระเบียบอื่น ๆ อาทิ งานจราจร ถือเป็นงานรอง สมควรถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานอื่นได้กระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายโอนภารกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อม เพื่อให้องค์กรตำรวจกระชับตัวลงและกำลังพลที่มีอยู่สามารถรองรับงานหลักได้เต็มที่
นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าการจะถ่ายโอนภารกิจของตำรวจดังกล่าว ต้องไม่สร้างความกระทบกระเทือนให้แก่ประชาชน และต้องไม่สร้างภาระแก่งบประมาณแผ่นดินมากเกินไป ทั้งนี้การถ่ายโอนภารกิจในความหมายนี้ จึงไม่ใช่การถ่ายโอนงานสอบสวนคดีอาญาบางประเภทที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางไปให้หน่วยงานอื่นที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนั้น และปัจจุบันตำรวจทำงานด้านสืบสวนสอบสวนอยู่แล้วและมีอำนาจจับกุม หากถ่ายโอนให้หน่วยงานอื่น จะทำให้มีหน่วยงานสอบสวนเพิ่มขึ้นใหม่อีกเป็นจำนวนมากอยู่ต่างสังกัดกัน จะเป็นการสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก
“หากทำเช่นนั้นอาจเป็นการสร้างนรกให้กับประชาชน หรือทำให้ประชาชนประสบสภาวะหนีเสือประจรเข้ เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างสูง งานสอบสวนคดีอาญาที่ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง อาจยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพขึ้นได้ โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในแต่ละด้านนั้นมาเป็นที่ปรึกษาหรือผู้ช่วยของพนักงานสอบสวน จะมีการแบ่งอำนาจการบังคับใช้กฎหมายที่มีโทษทางอาญาที่เป็นเรื่องเฉพาะของท้องถิ่นจริง ๆ อาทิ งานสาธารณสุข งานควบคุมอาคาร ไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพร้อม” นายคำนูณ กล่าว
โฆษกคณะกรรมการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาการลดจำนวนของความผิดที่มีโทษทางอาญาที่มีอยู่ในกฎหมายฉบับต่าง ๆ ได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 และบรรจุอยู่ในแผนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายอยู่แล้ว โดยจะมีการยกเลิกโทษทางอาญาสำหรับความผิดที่ไม่ร้ายแรง หรือให้มีการเปลี่ยนโทษปรับทางอาญาเป็นโทษปรับทางปกครองแทน ซึ่งเมื่อกระทำสำเร็จ จะเป็นการลดภารกิจที่ไม่จำเป็นของตำรวจไปด้วยอีกทางหนึ่ง และเมื่อรู้ภารกิจหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการพิจารณากำหนดโครงสร้างองค์กร.-สำนักข่าวไทย