ทำเนียบรัฐบาล 20 เม.ย. – นายกรัฐมนตรีมอบหมาย“กอบศักดิ์” ลุยแก้กฏระเบียบซ้ำซ้อน นับร้อยเรื่อง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 2/2561 โดยที่ประชุมได้รับทราบและพิจารณาวาระที่สำคัญดังนี้
ที่ประชุมได้รับทราบ การประกาศใช้แผนการปฏิรูปประเทศและแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ โดยจะเร่งดำเนินโครงการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนและสามารถทำได้ทันที (Quick Win) ประมาณ 30 เรื่อง การปรับแก้หรือตรากฎหมายใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ประมาณ 80 ฉบับ และโครงการสำคัญตามแผนการปฏิรูปประเทศ (Flagship) ประมาณ 110 เรื่อง เพื่อให้ระเบียบ ข้อบังคับ ของหน่วยงานในภูมิภาค และท้องถิ่นบังคับใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ยกเลิกข้อบังคับไม่ได้ใช้จริง หรือต้องขออนุญาตจากหลายหน่วยงานมากเกินไป เพื่ออำนวยความสะดวกนักลงทุนและประชาชน
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบกรอบแนวทางการสร้างการรับรู้และขยายผลหุ้นส่วนการพัฒนาร่างยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายหลักคือ 4 รู้ ได้แก่ รู้จัก สร้างการรับรู้ รู้จำ สร้างการจดจำ รู้จริง สามารถถ่ายทอดต่อได้วงกว้าง และ รู้แจ้ง เข้ามาเป็นหุ้นส่วนการขับเคลื่อนต่อไป โดยที่ประชุมเน้นย้ำให้สร้างการรับรู้และขยายผลให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในทุกประเภท ระดับ พื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วย
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญเพื่อมุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพในหลากหลายมิติ บนพื้นฐานแนวคิด 3 ประการ ได้แก่ (1) “ต่อยอดอดีต” โดยมองกลับไปที่รากเหง้าทางเศรษฐกิจ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และจุดเด่นทางทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย รวมทั้งความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของประเทศในด้านอื่น ๆ นำมาประยุกต์ผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สอดรับกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลกสมัยใหม่ (2) “ปรับปัจจุบัน” เพื่อปูทางสู่อนาคต ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในมิติต่าง ๆ ทั้งโครงข่ายระบบคมนาคมและขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และดิจิทัล และการปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการอนาคต และ (3) “สร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต” ด้วยการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ พัฒนาคนรุ่นใหม่ รวมถึงปรับโมเดลธุรกิจ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ผสมผสานกับยุทธศาสตร์ที่รองรับอนาคต บนพื้นฐานของการต่อยอดอดีตและปรับปัจจุบัน พร้อมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐ จะทำให้ประเทศไทยสามารถสร้างฐานรายได้และการจ้างงานใหม่ ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในเวทีโลก ควบคู่ไปกับการยกระดับรายได้และการกินดีอยู่ดี รวมถึงการเพิ่มขึ้นของคนชั้นกลางและลดความเหลื่อมล้ำในประเทศได้ในคราวเดียวกัน
สำหรับยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญเพื่อพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ โดยคนไทยมีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา มีพัฒนาการที่ดีรอบด้านและมีสุขภาวะที่ดีในทุกช่วงวัย มีจิตสาธารณะ รับผิดชอบต่อสังคมและผู้อื่น มัธยัสถ์ อดออม โอบอ้อมอารี มีวินัย รักษาศีลธรรม และเป็นพลเมืองดีของชาติ มีหลักคิดที่ถูกต้อง มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 มีทักษะสื่อสารภาษาอังกฤษและภาษาที่ 3 และอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่น มีนิสัยรักการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต สู่การเป็นคนไทยที่มีทักษะสูง เป็นนวัตกร นักคิด ผู้ประกอบการ เกษตรกรยุคใหม่และอื่น ๆ โดยมีสัมมาชีพตามความถนัดของตนเอง
รวมทั้งยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญที่ให้ความสำคัญการดึงเอาพลังของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน ประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น มาร่วมขับเคลื่อน โดยการสนับสนุนการรวมตัวของประชาชนในการร่วมคิดร่วมทำเพื่อส่วนรวม การกระจายอำนาจและความรับผิดชอบไปสู่กลไกบริหารราชการแผ่นดินในระดับท้องถิ่น การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการตนเอง และการเตรียมความพร้อมของประชากรไทยทั้งในมิติสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพ สามารถพึ่งตนเองและทำประโยชน์แก่ครอบครัว ชุมชน และสังคมให้นานที่สุด ขณะที่รัฐต้องให้หลักประกันการเข้าถึงบริการและสวัสดิการที่มีคุณภาพอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง.-สำนักข่าวไทย