สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 11 เม.ย.-อภิสิทธิ์มอบผู้แทนส่งหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินขอทราบรายละเอียดคำวินิจฉัยคำสั่งคสช. 53/2560 เพื่อนำมาศึกษา หากต้องชี้แจงศาล
นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เป็นตัวแทนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอทราบรายละเอียดคำวินิจฉัยกรณีผู้ตรวจฯ ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 53/2560 เรื่องการปฎิบัติของพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยนายราเมศได้มอบหนังสือที่ลงนามโดยนายอภิสิทธิ์ ระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะที่เป็นผู้ร้อง มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลการพิจารณาวินิจฉัยโดยตรง จึงอยากทราบรายละเอียดคำวินิจฉัยทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
“โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ตรวจฯ วินิจฉัยว่าคำสั่งคสช.ออกโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกรณีที่เห็นเนื้อหาของคำสั่ง 53/60 เป็นการลิดรอนสิทธิและเพิ่มภาระของสมาชิกพรรคที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติของพรรคการเมืองเพื่อนำไปศึกษา เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้วินิจฉัย พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะผู้ร้องอาจะต้องเข้าชี้แจง ซึ่งข้อมูลการวินิจฉัยของผู้ตรวจฯ จะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการชี้แจง” หนังสือดังกล่าวระบุ
นายราเมศ กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 230 กำหนดให้ผู้ตรวจฯมีอำนาจในการเสนอแนะ เพื่อให้หน่วยงานแก้ไขให้เกิดการปฎิบัติที่ถูกต้อง กรณีนี้เมื่อผู้ตรวจฯเห็นว่าเนื้อหาคำสั่งดังกล่าวมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ควรเสนอแนะไปยังคสช.ตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งคสช.ต้องเคารพคำวินิจฉัยของผู้ตรวจฯ โ ดยต้องแก้ไขตามที่ผู้ตรวจฯเสนอแนะ จึงอยากให้ผู้ตรวจฯ ดำเนินการเรื่องดังกล่าว
“มีบางประเด็นที่เราเห็นต่างจากผู้ตรวจฯ อย่างกรณีที่ผู้ตรวจฯวินิจฉัยว่า คสช.มีอำนาจโดยชอบการออกคำสั่งดังกล่าว ทางพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าการที่คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งไว้อย่างชัดเจนแล้ว ซึ่งคำสั่งนี้ไม่เข้าเงื่อนไข ดังนั้น การใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งนี้จึงไม่น่าจะถูกต้องเพราะคำสั่งคสช.จะใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้” นายราเมศ กล่าว
ด้านนายฐนภณ ธนวชิรนนท์ เจ้าหน้าที่สอบสวนอาวุโส ระดับสูง สำนักงานผู้ตรวจฯ กล่าวว่า ทางสำนักงานจะเร่งเสนอคำร้องดังกล่าวให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาโดยเร็ว แต่เป็นดุลพินิจของผู้ตรวจฯ ที่จะวินิจฉัยว่าจะเปิดเผยรายละเอียดคำวินิจฉัยของผู้ตรวจฯให้กับผู้ร้องหรือไม่ แต่ที่ผ่านมาจะแจ้งเพียงมติของผู้ตรวจฯ ให้ผู้ร้องได้ทราบจะไม่ได้อธิบายในรายละเอียด และถ้าเป็นกรณีที่ผู้ตรวจฯให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง ทางผู้ตรวจฯถือว่ารายละเอียดจะเป็นสำนวนที่จะต้องไปต่อสู้ในชั้นศาล จึงถือว่าเป็นความลับ และผู้ตรวจฯ จะเป็นคู่ความแทนผู้ร้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันนี้ (11 เม.ย.) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะรับคำร้องของสนช.เรื่องร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และคำร้องของผู้ตรวจเรื่องคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ไว้พิจารณาหรือไม่.-สำนักข่าวไทย
