สำนักข่าวไทย 9 เม.ย.-งานสัปดาห์หนังสือประสบความสำเร็จตามเป้า นักอ่านร่วมงาน กว่า1.8 ล้านคน เด็กเยาวชนกลุ่มใหญ่สุด แนวหนังสือมาแรง ‘ประวัติศาสตร์’ ในทุกหมวดสำหรับทุกวัย ทั้งนวนิยาย สารคดี และการ์ตูนความรู้
นางสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย(PUBAT) ให้สัมภาษณ์ผลสรุปงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16” (46th National Book Fair and 16th Bangkok International Book Fair 2018) ซึ่งมีสำนักพิมพ์ไทยเข้าร่วมงานกว่า 420 แห่ง โดยได้รับเกียรติจาก “ไต้หวัน” เข้าร่วมงานในฐานะ แขกรับเชิญเกียรติยศ (Guest of Honor) และจัดขึ้นจนถึงวันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ.2561 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้แนวคิด “อ่าน…อีกครั้ง”ว่า ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง มีผู้เข้าร่วมชมงานกว่า1,800,000 คน ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กและเยาวชน รองลงมาคือวัยทำงาน และแนวหนังสือที่มาแรงในครั้งนี้คือแนวประวัติศาสตร์ ทั้งนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ สารคดี รวมถึงการ์ตูนความรู้ แสดงให้เห็นถึงกระแสความนิยมอ่านงานเขียนที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในทุกวัย รองลงมาคือนวนิยายวัยรุ่น และไลท์โนเวล ซึ่งเป็นหนังสือที่อยู่ในความนิยมของเด็กและเยาวชน
“หนังสือแนวประวัติศาสตร์ ทั้งประเภทงานวิชาการ ประเภทนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ได้รับความสนใจจากนักอ่านทั่วไปมาก ไม่ใช่เพียงนักอ่านในสายประวัติศาสตร์เท่านั้น ไม่ว่าจะเรื่องบุคคลในประวัติศาสตร์ อย่าง คอนสแตนติน ฟอลคอน ท้าวทองกีบม้า เจ้าพระยาโกษาธิบดี(ปาน)รวมถึงเหตุการณ์ในสมัยอยุธยาทั้งการเมืองการทูตในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ นอกจากนี้ความสนใจยังขยายสู่เด็กและเยาวชน ที่มาตามหาหนังสือการ์ตูนความรู้ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ด้วย นอกจากนี้ยังเกิดปรากฏการณ์จินดามณีขึ้น เพราะเพียงวันแรกที่หนังสือมาวางขายที่บูทกรมศิลปากรก็หมดเกลี้ยงในระยะเวลาอันรวดเร็วจนต้องสั่งจองและมารับอีกครั้งในภายหลัง รวมยอดขายจินดามณีทั้งงานคือประมาณ10,000 เล่ม แน่นอนว่าทั้งหมดเป็นผลจากอิทธิพลนวนิยายและละครบุพเพสันนิวาสที่กำลังเป็นกระแสอยู่ขณะนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ของการต่อยอดความรู้จากความบันเทิงได้อย่างน่าสนใจมาก’ นางสุชาดา กล่าว
ปรากฏการณ์ดังกล่าวคือความสนุกในการอ่าน ความสนุกในการค้นหาข้อมูล แม้กระทั่งสารานุกรมไทยยังมีคนมาตามหาเล่มที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวัดไชยวัฒนาราม เป็นอานิสงส์ที่ขยายวงกันไปเรื่อยๆ นับเป็นนิมิตหมายที่ดี ซึ่งจะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้คุณภาพการอ่านของคนไทยเปลี่ยนแปลงด้วย นอกจากนี้หนังสือยังมาแรงเสมอคือหนังสือวัยรุ่นอย่าง นวนิยายวัยรุ่น ไลท์โนเวล การ์ตูนมังงะ ซึ่งจะมีกลุ่มวัยรุ่นเข้าคิวต่อแถวเพื่อซื้อหนังสืออย่างยาวเหยียดในทุกวัน
นางสุชาดา กล่าวด้วยว่า สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะค่อนข้างชะลอตัว ในงานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 46มีหนังสือออกใหม่กว่า 400 ปก ซึ่งสำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ต่างพอใจกับยอดขายหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือฯครั้งนี้ โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ต้องขอขอบคุณผู้เข้าชมงานที่สนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ เป็นกำลังใจที่สำคัญอย่างยิ่ง ในฐานะองค์กรที่มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมการอ่าน เล็งเห็นว่าหนังสือและการอ่านถือเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างประเทศอย่างมั่นคง และนำไปสู่การพัฒนาในทิศทาง “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะสามารถสร้างคนที่มีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของการที่จะพัฒนาประเทศในทิศทางต่างๆให้เกิดขึ้นได้ .-สำนักข่าวไทย