ปทุมธานี 31 มี.ค. – กรมทรัพย์สินทางปัญญาลงพื้นที่สวนกล้วยหอมทองปทุม เตรียมดันเป็นสินค้า GI จังหวัดปทุมธานี
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า “กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ดำเนินการส่งเสริมการยื่นคำขอขึ้นทำเบียน GI ตามโครงการ 1 จังหวัด 1 GI มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกรมฯ ได้ลงพื้นที่เตรียมผลักดันกล้วยหอมทองปทุมให้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI เพื่อควบคุมมาตรฐานการผลิตให้สามารถคงเอกลักษณ์ของสินค้าชนิดนี้ต่อไปได้อย่างยาวนาน
สำหรับลักษณะเด่นของกล้วยหอมทองปทุม คือ รูปทรงผลใหญ่ยาว หน้าตัดค่อนข้างกลม ปลายคอดเล็กน้อย เปลือกบาง ผิวนวล ผลดิบสีเขียวนวล ผลสุกสีเหลืองทองนวล เนื้อเหนียวแน่น ไม่มีเม็ด รสชาติหอมหวานมาก และมีค่าความหวานตั้งแต่ 16 องศาบริกซ์ขึ้นไป ปลูกในพื้นที่ทั้งจังหวัดปทุมธานี เดิมเป็นกล้วยที่นำพันธุ์มาจากจังหวัดเพชรบุรี โดยนำมาปลูกครั้งแรกเมื่อประมาณ 70 ปีก่อน ร่วมกับการปลูกพืชชนิดอื่นและเริ่มเป็นที่นิยมปลูกมากปี 2540 โดยปลูกทดแทนส้มรังสิตที่มีผู้นิยมปลูกน้อยลง ด้วยความอุดมสมบูรณ์และชนิดของดินซึ่งเป็นดินเหนียวที่มีความเป็นกรด ลักษณะของพื้นที่ที่มีคลองชลประทานซึ่งมีน้ำตลอดทั้งปี และการปลูกพืชแบบร่องน้ำที่มีการนำเลนจากร่องคูน้ำมาทับบนแปลงปลูก ทำให้กล้วยหอมทองปทุมมีลักษณะผล เปลือก และรสชาติที่ดีแตกต่างจากกล้วยหอมพื้นที่อื่น จนเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
ส่วนขอบเขตพื้นที่การปลูกกล้วยหอมทองปทุมนั้น ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดปทุมธานีทั้ง 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหนองเสือ อำเภอคลองหลวง อำเภอธัญบุรี อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอลำลูกกา และอำเภอสามโคก ทั้งนี้ จังหวัดปทุมธานีได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนกล้วยหอมทองปทุมเป็นสินค้า GI แล้วเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงลงพื้นที่ชมกระบวนการผลิตและศึกษาข้อมูลในพื้นที่ เพื่อประกอบการพิจารณาตรวจสอบคำขอดังกล่าวก่อนขึ้นทะเบียนต่อไป.-สำนักข่าวไทย