กรมปศุสัตว์ 30 มี.ค.-กรมปศุสัตว์ชี้แจงการประกาศเขตโรคระบาดที่เหลืออยู่
29 จังหวัดเพื่อให้สามารถระบุชนิดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ต้องควบคุมได้ทุกชนิด ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์เว้นแต่ได้รับอนุญาต
ขณะที่ขึ้นทะเบียนสุนัขและแมว แล้ว 7.3 ล้านตัว โดยยอดที่สำรวจสุนัข แมวปีที่ผ่านมามีประมาณ 10 ล้านตัว
นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์
อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงความควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า
ประจำวันที่ 30 มีนาคม 2561 ว่า การฉีดวัคซีนให้แก่สุนัข-แมวซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกรมปศุสัตว์
ที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ 8.24 ล้านตัว ได้ดำเนินการสะสมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 จนถึงวันนี้ (30 มี.ค.) รวมทั้งสิ้น
3,387,046 ตัว
สำหรับการผ่าตัดทำหมันซึ่งมีเป้าหมาย 300,000 ตัว
มีการดำเนินการสะสมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560
จนถึงวันนี้รวมทั้งสิ้น จำนวน 148,773 ตัว และทำการอบรมอาสาปศุสัตว์ด้านโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งตั้งเป้าไว้ 17,500 คน มีผลงานสะสมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 จนถึงวันนี้
จำนวน 34,696 คน
ซึ่งเป็นอาสาจากท้องถิ่นละ 1-2 ราย ทำงานร่วมกับ อสม.
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ขึ้นทะเบียนสุนัขและแมว แล้ว 7.3 ล้านตัว โดยยอดที่สำรวจสุนัข
แมวในปีที่ผ่านมามี ประมาณ 10 ล้านตัว
ส่วนการประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ในช่วงมกราคม-29 มีนาคม 2561
มีการประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราว (อายุ 30 วัน) จำนวน 40 จังหวัด ปัจจุบันคงเหลือ 29 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ระยอง สมุทรปราการ นครราชสีมา ยโสธร ศรีสะเกษ
สุรินทร์ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มุกดาหาร
อุดรธานี เชียงราย ตาก ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี สงขลา สตูล นนทบุรี ระนอง ซึ่งกรมปศุสัตว์มีเหตุผลความจำเป็นในการประกาศเขตโรคระบาด
เพื่อสามารถกำหนดพื้นที่ควบคุมในระยะ 5
กิโลเมตรรอบจุดเกิดโรค ทำให้สามารถระบุชนิดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ต้องควบคุมได้ทุกชนิด ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ตามประกาศเว้นแต่ได้รับอนุญาต
และสัตวแพทย์สามารถสั่งดำเนินการกับสัตว์ป่วย หรือสงสัยว่าป่วย หรือสงสัยว่าเป็นพาหะของโรคระบาดได้ทันที
–สำนักข่าวไทย