นครนายก 30 มี.ค. – อธิบดีกรมทรัพย์สินฯ ลงพื้นที่สวน “มะยงชิด-มะปรางหวานนครนายก” ชมกระบวนการผลิตและพิสูจน์ความอร่อย เตรียมผลักดันเป็นแหล่งเรียนรู้ควบคู่เส้นทางท่องเที่ยว
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ปีนี้กรมฯ ยังคงเดินหน้าส่งเสริมสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เป็นเครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตเฉพาะเจาะจง ซึ่งคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้านั้น ๆ เป็นผลมาจากการผลิตในพื้นที่ดังกล่าว GI จึงเปรียบเสมือนเป็นแบรนด์ของท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า จึงได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่แหล่งผลิตสินค้า GI จังหวัดนครนายก เพื่อเยี่ยมชมตรวจสอบควบคุมกระบวนการผลิต และพิสูจน์ความอร่อยของสินค้ามะยงชิดและมะปรางหวาน ณ สวนนพรัตน์ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก พร้อมเผยแพร่อัตลักษณ์และความน่าสนใจของสินค้า GI ดังกล่าวให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง
ทั้งนี้ สินค้ามะยงชิดนครนายกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI มีลักษณะเด่น คือ ผลใหญ่ รูปไข่ มีสีเหลืองส้ม เนื้อแน่น กรอบ มีกลิ่นหอม เม็ดลีบสีน้ำตาลอ่อน รสชาติหวานอมเปรี้ยว มีค่าความหวาน 18 – 22 องศาบิกซ์ ส่วนมะปรางหวานนครนายก มีลักษณะผลใหญ่ยาวรี ปลายเรียวแหลม สีเหลืองทอง เปลือกบาง มีกลิ่นหอม รสชาติหวานกรอบ ค่าความหวานอยู่ในช่วง 16 – 19 องศาบริกซ์ สินค้าทั้ง 2 ประเภทปลูกในอำเภอเมืองนครนายก อำเภอบ้านนา อำเภอปากพลี และอำเภอองครักษ์ ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ทางตอนเหนือและตะวันออกของจังหวัดนครนายกเป็นภูเขาสูงชัน ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ติดต่อกับเทือกเขาดงพญาเย็น ทางตอนกลางและใต้มีพื้นที่เป็นที่ราบอันกว้างใหญ่ มีความลาดเอียงลงมาทางใต้เล็กน้อย สภาพพื้นที่เป็นดินปนทราย เกิดจากการสะสมตัวของตะกอนที่ถูกน้ำพัดพามาตามความลาดชันของภูเขา ซึ่งเหมาะกับการทำการเกษตร เนื่องจากเป็นดินที่อุ้มน้ำและมีช่องว่างของเม็ดดิน ทำให้มีการระบายน้ำและการถ่ายเทของอากาศในดินได้ดี ประกอบกับ สภาพภูมิอากาศของจังหวัดนครนายกมีลักษณะหนาวสลับร้อน จึงส่งผลให้ผลผลิตมะยงชิดและมะปรางหวานจังหวัดนครนายกมีคุณภาพดีและมีเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างจากที่อื่น
อย่างไรก็ตาม การนำคณะลงพื้นที่ในครั้งนี้ยังได้สาธิตการทำอาหารเมนูยำมะยงชิดมะปรางหวาน โดยนำมะยงชิดและมะปรางหวานที่เก็บจากต้นในสวนนพรัตน์ มาเป็นวัตถุดิบหลักในการปรุง เพื่อเป็นแนวทางในการเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้แก่สินค้า และเพิ่มตัวเลือกให้แก่ผู้บริโภคด้วยอีกทางหนึ่ง พร้อมกันนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเล็งเห็นถึงศักยภาพและความพร้อมด้านต่าง ๆ ของจังหวัดนครนายก จึงเตรียมผลักดันแหล่งผลิตสินค้ามะยงชิดและมะปรางหวานให้เป็นแหล่งเรียนรู้ควบคู่กับเส้นทางท่องเที่ยวภายในจังหวัด รวมถึงการหาช่องทางทางการตลาด เพื่อสร้างโอกาสสร้างรายได้ที่จะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตอย่างครบวงจร
นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก กล่าวว่า ปัจจุบันผลผลิตมะยงชิดและมะปรางหวานนครนายกกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ทางจังหวัดจึงเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ผลิตที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการควบคุมมาตรฐาน GI ได้ทำเรื่องขออนุญาตให้ตราสัญลักษณ์ GI เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อควบคุมการผลิตสินค้ามะยงชิดและมะปรางหวานให้ได้มาตรฐาน และยังช่วยป้องกันการปลอมปนและแอบอ้างใช้ตราสัญลักษณ์ GI
สำหรับมะยงชิดจังหวัดนครนายกเป็นหนึ่งในสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI ของจังหวัดปีนี้ผลผลิตลดลงเหลือเพียงร้อยละ 10 หรือประมาณ 200 ตัน จากปกติผลผลิตอยู่ที่ 500-1000 ตัน เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้มะยงชิดหน้าสวนกิโลกรัมละ 280-300 บาท และราคาจำหน่ายปลีกอยู่ที่กิโลกรัมละ 500-700 บาท นอกจากนี้ ปัจจุบันประเทศไทยให้ความคุ้มครองสินค้า GI ไทยและต่างประเทศ รวม 103 รายการ เป็นสินค้าไทยจาก 59 จังหวัด 87 รายการ สินค้าต่างประเทศ 9 ประเทศ 16 รายการ และระหว่างปีงบประมาณ 2560 – 2561 มีสินค้าใหม่ขึ้นทะเบียน 20 รายการ และปีนี้กรมฯ มีแผนยื่นจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในประเทศญี่ปุ่น 3 สินค้า ได้แก่ กาแฟดอยช้าง กาแฟดอยตุง และสับปะรดห้วยมุ่น.-สำนักข่าวไทย