กทม. 27 มี.ค.-ตำราเรียนเล่มแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา อย่างหนังสือจินดามณี ที่ประพันธ์ขึ้นโดยพระโหราธิบดี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถือเป็นหนังสือยอดฮิตติดลมบน กำลังอยู่ในกระแสความสนใจของคนไทยในขณะนี้ จนกรมศิลปากรต้องจัดพิมพ์เพิ่มเป็นครั้งที่ 2 แม้จะออกแบบปกใหม่แต่เนื้อในคงรูปแบบดั้งเดิม และจะเปิดตัวล็อตแรก 4,000 เล่ม ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปลายเดือนนี้
เสียงฤาเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่นฤาพี่
สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือ
คำประพันธ์ในเรื่องลิลิตพระลอ เป็นโคลงสุดคลาสสิคที่ได้ยินคุ้นหูมาจวบจนปัจจุบัน บรรยายถึงความหล่อเหลาและเก่งกาจของพระลอ จนเป็นที่หมายปองของสาวๆ ไปทั่วเมือง เป็นหนึ่งในบทประพันธ์ที่บรรจุอยู่ในหนัง “จินดามณี” แบบเรียนเล่มแรกของไทย ต้นแบบหนังสือเรียนของไทยในปัจจุบัน
มีหลักฐานระบุว่า พระโหราธิบดี เป็นผู้เขียนและแต่งถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อใช้เป็นแบบเรียน ให้ผู้เข้ารับราชการหรือถวายการรับใช้ในราชสำนัก ฝึกหัดแต่งคำประพันธ์ประเภทต่างๆ ทั้งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน สอนการใช้คำยาก อย่าง ส ศ ษ และคำพ้องเสียงต่างๆ มีการจำแนกอักษร ออกเป็น 3 หมู่ เสียงสูง กลาง ต่ำ และมี 44 ตัวอักษร มาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ถือเป็นหนังสือสำคัญทางวรรณคดีเรื่องหนึ่งของไทย
กรมศิลปากร จัดพิมพ์หนังสือจินดามณี ฉบับพระโหราธิบดี เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อปี 2485 แต่การพิมพ์ฉบับสมบูรณ์ พร้อมแนบเอกสารต้นฉบับสมุดไทยให้เห็นถึงอักขระสมัยสมเด็จพระนารายณ์ กรมศิลปากร เพิ่งจัดพิมพ์เล่มแรกเมื่อปี2558 แต่ด้วยกระแสความสนใจใคร่รู้ในประวัติศาสตร์อย่างมากในขณะนี้ จึงจัดพิมพ์เพิ่ม
การจัดพิมพ์รอบ 2 จะวางจำหน่ายที่บูธของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 29 มีนาคมนี้ 4,000 เล่ม แต่กระแสความต้องครอบครองหนังสือจินดามณี ไว้เป็นที่ระลึกมีล้นหลาม จึงอาจจะจัดพิมพ์เพิ่ม เพราะถือเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ได้เห็นแบบเรียนในอดีตและเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลกับผู้ที่สนใจวรรณคดีและอักษรศาสตร์ด้วย.-สำนักข่าวไทย