กรุงเทพฯ 27 มี.ค. – หลังจากเมื่อวานนี้ กรมการขนส่งทางบก ออกมาตรการควบคุมรถโดยสาร 2 ชั้น ประเภทเช่าเหมา ให้วิ่งได้บางพื้นที่ เช่น เฉพาะภายในจังหวัด ไม่ข้ามระหว่างภูมิภาค หรือไม่ใช้เส้นทางลาดชัน ผู้ทำธุรกิจให้บริการรถโดยสาร 2 ชั้น เห็นด้วยกับมาตรการเพื่อความปลอดภัยในหลายเรื่อง และขอให้รัฐช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนพนักงานขับรถที่มีประสบการณ์
การตรวจเช็กแอลกอฮอล์ในร่างกายของพนักงานขับรถก่อนการเดินทาง ถือเป็นขั้นตอนแรกของบริษัทให้บริการรถโดยสารไม่ประจำทางแห่งนี้ เพื่อตรวจสอบว่า พนักงานขับรถพร้อมปฏิบัติงานหรือไม่ และยังตรวจความพร้อมของรถ เช่น เครื่องยนต์ สภาพล้อ และระบบแตร ให้มีสภาพสมบูรณ์ ก่อนสตาร์ทรถต้องสแกนใบขับขี่ เพื่อบันทึก ก่อนส่งต่อข้อมูลไปยังกรมการขนส่งทางบกว่า ใครเป็นผู้ขับรถ
พนักงานขับรถที่ยึดอาชีพนี้มากว่า 15 ปี บอกว่า การขับรถโดยสาร 2 ชั้น ต้องใช้ประสบการณ์ ต้องรู้จักระบบการทำงานของรถ และไม่ใช่ใครก็ได้ที่ขับรถทัวร์ได้ ที่สำคัญยังต้องชำนาญเส้นทาง โดยเฉพาะจุดเสี่ยงที่อาจเกิดอุบัติเหตุ เช่น ทางลงเขา
ปีที่แล้ว กรมการขนส่งทางบก มีการปรับเกณฑ์จดทะเบียนรถโดยสาร 2 ชั้น จาก 4.30 เมตร เป็นสูงไม่เกิน 4 เมตร มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมีนาคม 2560 และยังกำหนดให้รถที่มีความสูงตั้งแต่ 3 เมตรครึ่งขึ้นไป ต้องผ่านเกณฑ์ทดสอบการทรงตัวไม่น้อยกว่า 30 องศา ติดตั้งระบบจีพีเอส การเดินรถแบบเรียลไทม์ และล่าสุดเมื่อวานนี้ (26 มี.ค.) มีการประชุมที่กรมฯ วางมาตรการควบคุมเส้นทางวิ่งของรถโดยสาร 2 ชั้น เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และจะทยอยลดจำนวนรถโดยสาร 2 ชั้น จนหมดจากระบบ
อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย และทำธุรกิจให้บริการรถโดยสารไม่ประจำทาง ให้ข้อมูลว่า ทุกครั้งที่มีลูกค้าติดต่อจ้างเหมารถของบริษัท เขาจะตรวจสอบเส้นทางจนถึงจุดหมายปลายทางว่า มีจุดเสี่ยงหรือไม่ มีการติดจีพีเอสบนรถทุกคัน เพื่อดูความเร็วแบบออนไลน์ และมีเสียงแจ้งเตือนเมื่อรถเร็วเกินกำหนด
เขามองว่า การควบคุมให้รถทัวร์ 2 ชั้น วิ่งได้บางเส้นทาง เป็นวิธีที่ช่วยลดอุบัติเหตุได้ โดยเฉพาะเส้นทางที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง หรือเส้นทางที่มีความลาดชันมาก และยังการเสนอให้รัฐจัดศูนย์สอนการขับรถโดยสารสาธารณะ เพราะปัจจุบันมีปัญหาขาดแคลนพนักงานขับรถที่มีประสบการณ์ ส่วนที่มีอยู่มีจำนวนมากที่ไม่ได้มาตรฐาน และมีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ
อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย บอกด้วยว่า แม้กรมการขนส่งทางบกไม่ให้มีการจดทะเบียนรถโดยสาร 2 ชั้น มาตั้งแต่ปี 2559 แล้ว และพยายามจะทยอยลดจำนวนรถ แต่ที่ผ่านมาลูกค้าที่มาใช้บริการมักเลือกเจาะจงเป็นรถโดยสาร 2 ชั้น เพราะมีพื้นที่เยอะ จุคนได้มาก ขณะที่มีข้อมูลว่า มีรถโดยสารไม่ประจำทาง 2 ชั้น ในระบบกว่า 5,000 คัน ส่วนใหญ่เป็นรถรุ่นเก่าที่เป็นรถจดประกอบ ใช้งานมานานหลายปี คนขับรถประสบการณ์น้อย ซึ่งอาจเกิดอุบัติเหตุซ้ำได้ทุกเมื่อ. – สำนักข่าวไทย
ชมผ่านยูทูบ