พีทีทีจีซีเดินหน้า 3 โครงการปิโตรเคมีพื้นที่อีอีซี

ระยอง  23 มี.ค. – พีทีทีจีซีจับมือนักลงทุนต่างประเทศ เดินหน้า 3 โครงการปิโตรเคมี ร่วม 70,000 ล้าน  ในพื้นที่อีอีซี ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมาย ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0


บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีจีซี จัดพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการส่วนขยายปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ ซึ่งเป็นโครงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้นและขั้นปลายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จังหวัดระยอง ประกอบด้วย โครงการปรับปรุงกระบวนการผลิตโอเลฟินส์ (Olefins Reconfiguration Project ) โครงการผลิตสารโพรพิลีน ออกไซด์ (Propylene Oxide Project) และโครงการผลิตสารโพลีออลส์ (Polyols Project) โดยมีนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธี ณ พื้นที่ก่อสร้างโครงการปรับปรุงกระบวนการผลิตโอเลฟินส์ พีทีทีจีซี สาขา 2  (โรงโอเลฟินส์ ไอ – หนึ่ง) จังหวัดระยอง


นายศิริ  กล่าวว่า กระทรวงพลังงานมีภารกิจสำคัญในการจัดหาพัฒนาและบริหารจัดการพลังงาน เพื่อสร้างเสถียรภาพความมั่นคงและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่พลังงานจะต้องก้าวไปสู่พลังงาน 4.0 พร้อมทั้งการสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่อีอีซี นอกจากนี้ รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาพื้นที่อีอีซี เพื่อรองรับการพัฒนาของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต โดยมุ่งเน้นให้แต่ละพื้นที่ซึ่งมีจุดเด่นแตกต่างกันมีความสามารถที่จะนำพาการพัฒนาอุตสาหกรรมของตนเองได้ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคพร้อมทั้งการส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ สำหรับการดำเนินโครงการส่วนขยายปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษในพื้นที่อีอีซีของพีทีทีจีซีร่วมกับนักลงทุนพันธมิตรและผู้เชี่ยวชาญจะช่วยสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี สร้างโอกาสการจ้างงาน พร้อมการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชน เพื่อประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเติบโตร่วมกัน อย่างยั่งยืน

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์  ประธานกรรมการพีทีทีจีซีและหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต กล่าวว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.อีอีซีได้รับการเห็นชอบและกำลังอยู่ระหว่างการออกเป็นกฎหมาย และ ถูกกำหนดลงในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สอดคล้องกับไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งถือเป็นก้าวสําคัญของการพัฒนาและเดินหน้าตามนโยบายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าการลงทุนขนาดใหญ่จะได้รับการคุ้มครองและดูแลอย่างเป็นธรรม ปัญหาและอุปสรรคจะได้รับการดูแลแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต โครงการส่วนขยายปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ ซึ่งเป็นโครงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้นและขั้นปลายในพื้นที่อีอีซีจังหวัดระยอง ทั้ง 3 โครงการนี้ไม่เพียงส่งเสริม New S-Curve ในอีอีซี เท่านั้น แต่ยังมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ เกิดการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจสู่ชุมชน อีกด้วย

นายสุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาว์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ พีทีทีจีซี กล่าวว่า พื้นที่ Eastern Seaboard แห่งนี้ เมื่อ 30 ปีก่อนยังเป็นไร่สับปะรด และพีทีทีจีซีเชื่อว่าการลงทุนในพื้นที่แห่งนี้จะสร้างความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยพีทีทีจีซีเป็นผู้ประกอบการรายแรก ๆ ที่เข้ามาลงทุน สร้างโรงโอเลฟินส์แห่งแรกของประเทศ ก่อเกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย สร้างงาน สร้างอาชีพ                สร้างรายได้และความเจริญให้กับประเทศมาโดยตลอด ทำให้ไทยเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มากด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ วันนี้พีทีทีจีซีพร้อมที่จะลงทุนเดินหน้าโครงการปิโตรเคมี 3 โครงการ มูลค่าประมาณ 70,000 ล้านบาท ในพื้นที่อีอีซี ที่นับเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนและเป็นประตูสู่ทวีปเอเชีย ยุโรปและอเมริกา ถือเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของโลก 


ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าอีอีซีจะสร้างโอกาสการกลับมาลงทุนใหม่ของนักลงทุนบนพื้นที่เดิม ด้วยมีจุดแข็งด้านโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่พัฒนาต่อยอดใหม่ โดยพีทีทีจีซีได้เชิญนักลงทุนต่างชาติมาเยี่ยมชมพื้นที่ใน อีอีซีและพีทีทีจีซีได้ไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุน 7-8 บริษัทให้ความสนใจและตัดสินใจร่วมลงทุน โดยได้มีการลงนามเอ็มโอยูแล้ว 5 บริษัท คิดเป็นเงินลงทุนในอีอีซีรวมกว่า 100,000 ล้านบาท ในระยะ 5 ปี และบริษัทฯ ก็พร้อมจะเดินหน้าไปกับการพัฒนาอีอีซีของประเทศ

สำหรับโครงการปรับปรุงกระบวนการผลิตโอเลฟินส์ บริษัทฯ ลงนามในสัญญาออกแบบวิศวกรรมการจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ การก่อสร้าง กับบริษัท ซัมซุงเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (SECL) บริษัท ซัมซุง เอนจิเนียริ่ง ไทยแลนด์ จำกัด (SET) และ บริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) (TTCL) เพื่อก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมี โครงการโรงโอเลฟินส์แห่งใหม่ (Olefins Reconfiguration Project)  โดยใช้แนฟทา และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เป็นวัตถุดิบหลัก คาดว่าจะสามารถดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2563 โดยมีมูลค่าเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 36,000 ล้านบาท

ส่วนโครงการผลิตสารโพรพิลีน ออกไซด์ และโครงการผลิตสารโพลีออลส์ เป็นโครงการในธุรกิจสาย Polyurethane ซึ่งอยู่ในกลุ่มเคมีภัณฑ์สมรรถนะสูงที่เป็นการต่อสายธุรกิจผลิตภัณฑ์ Polyurethane อย่างครบวงจร เป็นผลิตภัณฑ์ที่ตลาดกำลังมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น ตามการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้า ปัจจุบันได้มีการจัดตั้งบริษัทย่อย คือ GC Oxirane Co., Ltd. (GCO) และบริษัทร่วมทุน GC Polyols Co., Ltd (GCP) ระหว่างพีทีทีจีซีและพันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่น คือ บริษัท Sanyo Chemicals Industries (SCI) และ บริษัท Toyota Tsusho Corporation (TTC) เพื่อดำเนินธุรกิจ PO และ Polyols โดยมีมูลค่าโครงการ PO/Polyols รวมกันประมาณ  32,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ปี 2563

ทั้งนี้ โครงการลงทุนส่วนขยายปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษของพีทีทีจีซีในพื้นที่อีอีซีครั้งนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้านปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ถึง 25 เท่า เกิดการจ้างงานให้กับประชาชน เกิดกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อเป็นทุนสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ ชุมชน และประชาชนที่อยู่ภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน สร้างความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” .-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

มุกใหม่มิจฉาชีพ

มุกใหม่มิจฉาชีพ! ป่วนโทรแจ้ง ตร. เกิดเหตุร้ายที่บ้านเหยื่อ

อินฟลูฯ สาว สายทำอาหาร ถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นตำรวจโทรหา แต่เธอไม่เชื่อ โดนท้าอีก 10 นาทีเจอกัน ปรากฏว่า มีตำรวจจาก 2 โรงพักบุกมาที่บ้านจริง

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา บอกสนามใหญ่ ไม่เข้าไปก้าวก่ายสนามท้องถิ่น ซ้ายก็เพื่อน ขวาก็พวก

ครม.เคาะแจกเงินหมื่นเฟส 2 ผู้สูงอายุ 60 ปี

“จุลพันธ์” เผย ครม.เห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้สูงอายุ วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการทันก่อน 29 ม.ค.68 รวม 3 มาตรการ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ 1.4-1.5 แสนล้านบาท

ข่าวแนะนำ

มติกฤษฎีกา “กิตติรัตน์” คุณสมบัติไม่ผ่านนั่งประธานบอร์ด ธปท.

คณะกรรมการกฤษฎีกา 3 คณะ มีมติไม่ผ่านคุณสมบัติ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” เป็นประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย

เครื่องบินโดยสาร อาเซอร์ไบจาน แอร์ไลน์ ตกในคาซัคสถาน

เครื่องบินโดยสารเอ็มบราเออร์ ของสายการบินอาเซอร์ไบจาน แอร์ไลน์ ที่บินจากอาเซอร์ไบจาน ไปยังประเทศรัสเซีย เกิดอุบัติเหตุตกที่บริเวณใกล้กับเมืองอัคเทา ในคาซัคสถาน โดยมีผู้โดยสาร 62 คน และลูกเรือ 5 คน บนเครื่อง เจ้าหน้าที่คาซัคสถานกล่าวว่า มีผู้รอดชีวิต 28 ราย