กรุงเทพฯ 22 มี.ค.-ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยข้อมูลกับสำนักข่าวไทย อสมท ว่าจะมีรถโดยสาร 2 ชั้น ไม่ประจำทางจำนวนประมาณ 5,000 คัน ที่จดทะเบียนก่อนปี 2556 เสี่ยงต่อมาตรฐานของกรมขนส่ง และอาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุได้ รวมถึงแนะนำว่ารถ 2 ชั้น ควรมีการติดตั้งระบบเตือนภัย และไม่วิ่งในเส้นทางที่สูงชัน โดยเหมาะกับใช้ในเมืองมากกว่า
การประกาศบอกให้ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัยก่อนรถจะออก เป็นหนึ่งในมาตรการรักษาความปลอดภัยตามที่กรมการขนส่งกำหนด เช่นเดียวกับการทำเช็กลิสต์ตรวจความพร้อมพนักงานขับรถ และความพร้อมของรถ ก่อนให้บริการทุกครั้ง
พนักงานขับรถบอกว่า แม้จะปฏิบัติบัติตามข้อบังคับความปลอดภัย และจะมีอุปกรณ์ เช่น ค้อนทุบกระจก เข็มขัดนิรภัย แต่ก็ยังมีปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ และเสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น ถนนบางเส้นที่มีการก่อสร้าง
ส่วนผู้โดยสารคนนี้ แม้จะทราบข่าวอุบัติเหตุรถโดยสาร 2 ชั้น ที่ อ.วังน้ำเขียว เมื่อคืนนี้ แต่เธอก็ยังเชื่อมั่นในความปลอดภัยของรถโดยสาร 2 ชั้นเช่นเดิม
ก่อนหน้านี้กรมการขนส่งทางบกมีการกำหนดให้รถโดยสารที่มีความสูงตั้งแต่ 3 เมตรครึ่งขึ้นไป ต้องผ่านเกณฑ์ทดสอบการทรงตัวไม่น้อยกว่า 30 องศา ติดตั้งระบบจีพีเอส การเดินรถแบบเรียลไทม์ ต้องตรวจสภาพรถปีละ 2 ครั้ง รวมถึงคนขับรถต้องผ่านการอบรมหลักสูตรไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง และทดสอบการขับรถบนถนนจริง
ที่ผ่านมากรมการขนส่งทางบกมีการปรับเกณฑ์การจดทะเบียนรถโดยสาร 2 ชั้น จากเดิมกำหนดความสูงไว้ที่ 4 เมตร 30 เซนติเมตร เป็นสูงไม่เกิน 4 เมตร โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่มีนาคมปีที่แล้ว เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้โดยสาร
กรณีการเกิดอุบัติเหตุจากรถโดยสาร 2 ชั้น ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ให้ข้อมูลว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ เป็นเพราะรถใช้ความเร็วไม่เหมาะสมกับถนน แม้จะมีการติดจีพีเอสเพื่อกำหนดความเร็วแล้ว แต่ก็ไม่มีระบบเตือนภัยเมื่อความเร็วรถเกินกำหนด อีกทั้งกายภาพของรถบัส 2 ชั้น ไม่เหมาะกับบางเส้นทาง เช่น เส้นทางที่มีความลาดชันยาวต่อเนื่อง ซึ่งเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ โดยในปีที่แล้วเฉพาะรถโดยสาร 2 ชั้น เกิดอุบัติเหตุไปแล้วกว่า 60 ครั้ง
ข้อมูลการจดทะเบียนรถโดยสารจากกรมการขนส่งทางบกระบุว่า มีรถโดยสาร 2 ชั้น ทั้งหมด 7,199 คัน แบ่งเป็นรถประจำทาง 1,986 คัน และรถไม่ประจำทาง 5,213 คัน ซึ่งในจำนวนของรถไม่ประจำทางส่วนใหญ่ เป็นรถบัสที่ขึ้นทะเบียนก่อน 1 มกราคมปี 56 ซึ่งเป็นปีที่กรมการขนส่งทางบกประกาศให้มีการทดสอบพื้นเอียง ในระดับความเอียงที่ 30 องศา ว่ารถจะยังทรงตัวได้อยู่หรือไม่ เป็นการเปรียบเทียบ ขณะรถเข้าโค้งด้วยความเร็ว ซึ่งรถที่ขึ้นทะเบียนก่อนปี 56 ไม่เคยเข้ารับการทดสอบพื้นเอียง และปัจจุบันยังคงนำมาใช้งานอยู่ ซึ่งเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุซ้ำ
นอกจากนี้ ยังพบว่าเบาะที่นั่งผู้โดยสารบางคันไม่แข็งแรง เมื่อเกิดอุบัติเหตุตัวเบาะหลุดจากตัวรถ รวมถึงโครงสร้างโดยเฉพาะชั้นบนของรถ 2 ชั้น ที่มักยุบตัว เมื่อรถพลิกคว่ำ หรือตกเขา ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้โดยสารเสียชีวิต.-สำนักข่าวไทย
ชมผ่านยูทูบ