กรุงเทพฯ 7 พ.ค. – รองผู้ว่าฯ กทม. สังเกตการณ์ทดสอบระบบเตือนภัย Cell Broadcast ระดับกลางครอบคลุมเขตดินแดง เสริมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ เตรียมทดสอบใหญ่ทั้งกรุงเทพฯ 13 พ.ค.นี้
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมสังเกตการณ์การทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ Cell Broadcast ระดับกลาง (อำเภอ) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมประชาสัมพันธ์ และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ AIS TRUE และ NT ร่วมทดสอบ ในการนี้ นางชุติสา ศาสตร์สาระ ผู้อำนวยการเขตดินแดง ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมการทดสอบด้วย ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 6 สำนักการโยธา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า สัญญาณโทรศัพท์ในกรุงเทพฯ ค่อนข้างดีและทั่วถึง แต่คำถามที่น่าสนใจคือทุกคนได้รับการแจ้งเตือนครบและชัดเจนหรือไม่ เพราะการดีเลย์มีความสำคัญ จากการทดสอบระบบในกรุงเทพฯ ทุกเครือข่ายแจ้งเตือนตรงเวลาคือ 13.00 น. แต่ในอำเภอเมืองลำปางล่าช้า 2 นาที แต่ 2 นาทีนั้น หากเป็นภัยบางภัยก็อาจจะมีความหมายบางอย่าง แต่เมื่อการแจ้งเตือนถูกปล่อยจากส่วนกลางจึงเกิดคำถามว่าในอนาคตระบบแบบนี้ เราจะให้ขั้นตอนการปฏิบัติสามารถทำให้มีการเตือนได้เฉพาะที่ได้จากหน่วยงานใดบ้าง อย่าไปคิดว่าการกระจายไปจะดีทุกอย่าง แต่อยู่ที่ว่ากระจายไปแล้วคนที่มีความรู้ในการวิเคราะห์กำกับควบคุมระบบได้ หากเกิดความผิดพลาดกับระบบกะทันหันขึ้นมาจะแก้ไขได้หรือไม่ ดังนั้นการมีผู้รับผิดชอบอยู่ที่ต้นทางก็สำคัญเช่นกัน ทั้งนี้ ยังต้องมีการพูดคุยในรายละเอียดกันอีกเยอะว่าตัวระบบจะถูกบริหารจัดการอย่างไร
ในส่วนของ กทม. หลังจากนี้ในเรื่องของการแจ้งเตือนภัยระบบเตือนภัย Cell Broadcast จะมีการดำเนินงานเพิ่มเติมอย่างไรนั้น รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า เนื่องจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้จัดทำ scenario คือเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเรากำหนดไว้ 9 ประเภทภัย เช่น น้ำท่วม อาชญากรรม อุบัติเหตุ ไฟไหม้ อาคารถล่ม โรคระบาด สารเคมีรั่ว เป็นต้น เราต้องมีการทบทวนใหม่ทั้งหมดโดยการนำเรื่องของระบบ Cell Broadcast เข้าไปอยู่ในแผนปฏิบัติการทั้งหมดในขั้นตอนของการเตือนและแจ้ง รวมถึงนำเอาแผนปฏิบัติการในเชิงพื้นที่ทั้งหมดมาสวมเข้ากับระบบเตือนภัยนี้ แต่ในบางประเภทภัยนั้นข้อมูลไม่ได้อยู่ที่ กทม. จึงต้องมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นด้วย คงต้องมีการจัดการให้เรียบร้อย เพื่อให้ระบบสามารถใช้ได้กับทุกเรื่อง จริง ๆ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เมื่อแจ้งเตือนแล้ว ต้องมีระบบบริหารจัดการมารองรับ เพราะไม่อย่างนั้นเราจะไปทำให้เกิดความวุ่นวายมากกว่าเดิม ทั้งนี้ สำหรับการทดสอบครั้งต่อไปในระดับจังหวัด จะมีการสอบถามไปยังทีมเทคนิคว่าในแง่ของ infrastructure ด้านเครือข่ายหรือการส่งสัญญาณ มีจุดใดในกรุงเทพมหานครที่มีความเป็นห่วงมากเป็นพิเศษหรือมีข้อกังวลหรือไม่
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวด้วยว่า ปีนี้กรุงเทพมหานครจะดำเนินการซ้อมสาธารณภัยระดับ 2 ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอยากให้เป็นการซ้อมกู้ภัยทางน้ำ โดยการซ้อมสาธารณภัยระดับ 2 คือ ใช้อำนาจผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและจะต้องมีการระดมทรัพยากรจากหลายเขต ขณะนี้อยู่ในระหว่างการออกแบบสถานการณ์เพื่อฝึกซ้อม และอาจจะได้ทดสอบไปถึงระดับการเตือนภัย Cell Broadcast เฉพาะวันที่เราทำการฝึกซ้อมด้วยหรือไม่นั้น จะมีการหารือและออกแบบอีกครั้งหนึ่ง
โดยวันนี้เป็นการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเทคโนโลยี Cell Broadcast (CB) เป็นครั้งที่ 2 โดยเป็นการทดสอบในระดับกลาง (อำเภอ) ใน 5 พื้นที่ ได้แก่ อำเภอเมืองลำปาง อำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี และเขตดินแดง กรุงเทพมหานคร โดยประชาชนในพื้นที่ทดสอบจะได้รับข้อความและเสียงเตือน แจ้งเตือนทางโทรศัพท์มือถืออัตโนมัติ ประมาณ 8-10 วินาที
สำหรับการทดสอบระบบ Cell Broadcast ครั้งถัดไป ซึ่งเป็นการทดสอบระดับใหญ่ จะมีขึ้นในวันอังคารที่ 13 พ.ค. 68 เวลา 13.00 น. โดยจะส่งสัญญาณเตือนครอบคลุมพื้นที่ระดับจังหวัด 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ หลังจากเสร็จสิ้นการทดสอบทั้ง 3 ครั้งแล้ว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะมีการประเมินผลเพื่อเตรียมการทดสอบระบบในระดับประเทศครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดต่อไป.-417-สำนักข่าวไทย