กรุงเทพฯ 21 มี.ค.-ในการเสวนาเรื่อง ‘พาราควอต’ฆ่าหญ้า:คร่าสุขภาพคนไทย’ซึ่งคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร และผู้สนใจปัญหาสุขภาพจัดขึ้น เปิดเผยข้อมูลพิษของยาฆ่าหญ้าพาราควอต ที่ผลวิจัยพบว่าเสี่ยงเป็นโรคผิวหนัง พาร์กินสัน ระบบประสาทเชื่อมโยงสตรีมีครรภ์และทารกแรกเกิด เร่งรัฐบาลฟันธงยกเลิกการนำเข้า ขณะที่มี 53 ประเทศทั่วโลกประกาศยกเลิกแล้ว
ศ.ดร.พรพิมล กองทิพย์ จากคณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยข้อมูลการวิจัยสารพาราควอตหรือยาฆ่าหญ้าว่าเป็นสารเคมีอันตรายที่มีพิษเฉียบพลันสูง ปัจจุบันยังไม่มียาถอนพิษ ประเทศที่ห้ามใช้แล้วประมาณ 53 ประเทศ อีก 15 ประเทศจำกัดการใช้ เนื่องจากว่ามีความเสี่ยงต่อโรคพาร์กินสันและระบบประสาท ในไทยมีการตรวจพบการปนเปื้อนในแหล่งน้ำใต้ดิน น้ำผิวดินน้ำประปาในหลายจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดน่าน ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของประเทศและพบการตกค้างในดินจากจังหวัดนครสวรรค์ พิษณุโลก
นอกจากนี้ยังพบสารพาราควอต ตกค้างในปัสสาวะหญิงตั้งครรภ์ใน 3จังหวัดที่มีการศึกษาคือนครสวรรค์ กาญจนบุรี อำนาจเจริญ และยังพบสารตกค้างในซีรั่มมารดา และซีรั่มสายสะดือทารกขณะคลอดบุตร นอกจากนี้ยังพบในขี้เทาของทารกแรกเกิดด้วยซึ่งอาจส่งผลต่อพัฒนาการของทารก
ขณะที่มีข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี ช่วงปี 2553-2559มีการเสียชีวิตของผู้ป่วยในประเทศที่ได้รับพิษถึงร้อยละ 10.2 ข้อมูลสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมกรมควบคุมโรค ผู้ป่วยด้วยพาราควอต 33 คนหรือ 0.05 ต่อ 100,000 ประชากรส่วนมากอาชีพเกษตรกรและรับจ้าง
ด้าน รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิทยากูล ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ประเทศไทยนำเข้าสารพาราควอต มาใช้เพื่อกำจัดวัชพืชในภาคเกษตรต่อเนื่องกว่า 30 ปี มีการฉีดพ่น ในอัตราส่วนที่สูงกว่าที่กำหนดไว้ในฉลาก ส่งผลให้สารถูกดูดซับไว้ในดินเกิดการ “คายซับ”หรือปลดปล่อยสารละลายไปกับน้ำที่ไหลผ่าน ถ้าแหล่งน้ำนั้นใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคจะมีโอกาสเข้าสู่ร่างกายและน้ำที่มีสารพาราควอตปนอยู่สามารถเคลื่อนเข้าสู่รากของพืชได้เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ มีรายงานวิจัยพบสารนี้จากดินในมาเลเซียและไทยรวมถึงตกค้างในพืชตระกูลถั่วที่เยอรมัน บราซิล แคนาดารวมถึงข้าวโพดในอังกฤษ อเมริกาเป็นต้น
รศ.ดร.พวงรัตน์กล่าวอีกว่าผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวรได้เก็บตัวอย่างตรวจวิเคราะห์พบสารนี้ปนเปื้อนในแหล่งน้ำและดินของจังหวัดน่านและหนองบัวลำภูพบการปนเปื้อนของสารนี้ในน้ำประปาหมู่บ้านและในผักท้องถิ่นที่ปลูกในพื้นที่และยังพบการตกค้างในผักที่สวนเก็บจากห้างสรรพสินค้าหลายแห่งจากหลายจังหวัด
ในเวทีเสวนาเสนอให้ภาครัฐควรมีนโยบายลดละเลิกการใช้สารเคมีเช่นนี้พร้อมให้ความรู้เกษตรกรมีสารทดแทนที่ปลอดภัย หากจำเป็นควรเลือกสารเคมีที่มีมาตรฐานสากลคำนึงถึงความปลอดภัยผู้ใช้งานการย่อยสลายในธรรมชาติ และให้ความสำคันกับการตรวจวัดขององค์กรภาครัฐเพื่อเฝ้าระวังการแพร่กระจายตกค้างในน้ำและอาหาร
ขณะนี้สังคมไทยมีความตื่นตัว ล่าสุดคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานได้ยืนยันมติที่เสนอให้ยกเลิกการนำเข้าและการใช้สารพาราควอตซึ่งเป็นสารกำจัดวัชพืชอันตรายร้ายแรงนี้ .-สำนักข่าวไทย