กรุงเทพฯ 21 มี.ค. – มหาวิทยาลัยมหิดลทรานส์ฟอร์มครั้งใหญ่ พลิกโฉมการศึกษาวิจัย เร่งปั้นโรงงานยามีชีวิตรัดษามะเร็ง พาร์กินสัน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับกระแสความเปลี่ยนแปลงใหญ่มากในอีก 8 ปีข้างหน้าไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super Aging) การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี (Digital Disruption) ที่ขับเคลื่อนโดย AI และเทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยมหิดลต้องรับมือและปรับตัวตามให้ทัน และต้องเร่ง “ทรานส์ฟอร์ม” สู่ยุคใหม่ในทุกมิติ โดยต้องผลักดันงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง สร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ ผลักดันงานวิจัยไม่ให้อยู่แค่บนหิ้งแต่ส่งเสริมภาคเอกชนให้นำไปต่อยอดพัฒนาเป็นเทคโนโลยี นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่สร้างประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูงด้านเซลล์บำบัดและยีนบำบัด (Cell and Gene Therapy) พร้อมสร้างโรงงานผลิตยาที่มีชีวิตเป็นศูนย์กลางการรักษาด้วยยีนบำบัดและเซลล์บำบัดแห่งแรกของประเทศไทย การพัฒนาวัคซีนและชีวเภสัชภัณฑ์เช่น วัคซีนมาลาเรียและไข้เลือดออก ที่ถูกนำไปใช้ในระดับสากล PharmTOP โรงงานยาที่ผลิตจากสมุนไพร เพื่อทำให้ราคายาในประเทศถูกลง เนื่องจากใช้วัตถุดิบในประเทศแทนการนำเข้า
การพลิกโฉมวงการสาธารณสุขไทย ด้วยการผลักดันไทยสู่ศูนย์กลางด้านเซลล์บำบัดและยีนบำบัด (Cell and Gene Therapy) ระดับอาเซียน ด้วยการรักษาแบบเซลล์บำบัดและยืนบำบัดในประเทศ โดยนำเลือดผู้ป่วยมาทำเซลล์บำบัดและฉีดกลับเข้าไปในร่างกาย ลดผลกระทบข้างเคียง ผมร่วง คลื่นไส้อาเจียน จากการทำคีโมบำบัดราคาแพง เพื่อนำมารักษาผู้ป่วยในวงกว้างมากขึ้น รวมถึงการฉีดเอนไซด์ เข้าไปกลางสมองด้วยเครื่องมือสมัยใหม่เพื่อรักษาโรคพาร์กินสัน ในต่างประเทศได้รักษากันมาแล้ว เมื่อนำมาพัฒนารักษาผู้ป่วยของไทย
รวมถึงการผลักดันนโยบายและความร่วมมือระดับนานาชาติ ควบคู่ไปพร้อมกับการเร่งปรับปรุงโรงงานยาที่มีอยู่เดิมให้เป็นโรงงานยาที่มีชีวิต (MU-Bio Plant) สำหรับผลิตยากลุ่ม Advanced Therapy Medicinal Product(ATMP) เพื่อรองรับการการรักษาแบบเซลล์บำบัดและยีนบำบัดในประเทศไทย จะทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งและโรคร้ายแรงอื่นๆ ได้ในราคาที่ถูกลงอย่างมากแล้ว ยังจะส่งเสริมให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตเซลล์บำบัดและยีนบำบัดของภูมิภาคอาเซียน ยกระดับมาตรฐานวงการแพทย์ไทยให้ทัดเทียมสากล
การเสริมศักยภาพการแพทย์และสาธารณสุขไทยด้วย AI & Health Care นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการแพทย์และระบบสาธารณสุข โดยร่วมมือกับ บริษัท สยาม เอไอ คลาวด์คอร์เปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็น NVIDIA Cloud Partner (NPC) เพียงรายเดียวในประเทศไทย นำนวัตกรรมที่ทันสมัย และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้เพื่อประโยชน์ด้านการแพทย์ เช่น การวินิจฉัยโรค การคาดการณ์แนวโน้มของโรค การคาดการณ์ความเสี่ยงโรคเรื้อรัง การดูแลสุขภาพส่วนบุคคลและบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างสุขภาวะของประชาชน รวมถึงการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความเชี่ยวชาญด้าน AI และ Health Tech ให้สามารถใช้งานได้จริง ตลอดจนเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางวิชาการระหว่างคณาจารย์ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อถ่ายทอดความรู้และทักษะทางเทคนิคร่วมกัน
การสร้าง Startup Ecosystem และผลักดันStartup Health Tech ไทย ก้าวไกลสู่ระดับUnicorn ตั้งเป้าให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็น One Stop Service สำหรับส่งเสริมและพัฒนา Health Tech Startup และสร้าง Startup Ecosystem แบบครบวงจร โดยจัดตั้งโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของสตาร์ตอัป (Health Tech Incubator & Accelerator) โดยร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรระดับโลก เช่นSilicon Valley รวมถึงสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) เพื่อร่วมกันสนับสนุนและพัฒนาสตาร์ตอัปไทยในทุกมิติ ตั้งแต่การพัฒนาเทคโนโลยี การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุน ไปจนถึงการขยายตลาดเพื่อร่วมกันผลักดันให้ประเทศไทยมี Unicorn Startup ในสาย Health Tech เพื่อดูแลสุขภาพด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่.-515- สำนักข่าวไทย