กรุงเทพฯ 20 มี.ค.- ภาครัฐกำลังควบคุม และแก้ไขสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในทุกพื้นที่ ตามมาตรการ 2+1 หากต้องสงสัยว่าได้รับเชื้อหลังถูกสุนัขกัด ให้เร่งพบแพทย์ทันที
มาตรการเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าของกรมปศุสัตว์ใช้มาตรการ “2+1” ควบคุมโรคและหยุดการระบาด นั่นคือ เมื่อพบโรค โดยมีผลตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการแล้ว ปศุสัตว์พื้นที่จะประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราว เพื่อกำจัดโรคให้แล้วเสร็จในระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งจะควบคุมโรคในรัศมี 5 กิโลเมตรโดยรอบจุดที่เกิดเหตุ ผ่านการฉีดวัคซีคในสุนัขและแมวทุกตัว
สำหรับโรคพิษสุนัขบ้า หรือ “โรคกลัวน้ำ” เกิดจากเชื้อไวรัส เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะวิ่งไปตามเส้นประสาทสู่สมอง ไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่ป้องกันได้ทั้งในคนและสัตว์ ที่สำคัญไม่ได้เกิดกับสุนัขเท่านั้น แต่เกิดกับสัตว์เลือดอุ่น โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ทั้ง แมว ชะนี ลิง กระรอก กระแต หนู ค้างคาว แต่พบว่าสุนัขเป็นตัวแพร่เชื้อมากที่สุดกว่าร้อยละ 95 รองลงมาคือ แมว
ส่วนการแพร่เชื้อแพร่ผ่านทางน้ำลายของสุนัข คนสามารถติดเชื้อได้ ก็ต่อเมื่อถูกสัตว์ที่เป็นโรคนี้ กัด, ข่วน, เลีย หรือน้ำลายสัตว์กระเด็ดเข้าตามแผล, เยื่อบุตา, จมูก และ ปาก ทางอากาศหายใจก็เป็นไปได้ แต่โอกาสมีน้อย ยกเว้นในที่ที่มีจำนวนไวรัสในอากาศมาก เช่น ในถ้ำค้างคาว
สำหรับอาการของคนที่ได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จะมีอาการสมองอักเสบและไขสันหลังอักเสบ, มีไข้ต่ำ, เจ็บคอ, เบื่ออาหาร ต่อมามีอาการคัน แสบร้อนที่แผล ก่อนกระสับกระส่าย กลัวแสงกลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อเจ้อ กระวนกระวาย หนาวสั่น กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว ไม่อยากดื่มน้ำ มีอาการกลัวน้ำ จากนั้นกล้ามเนื้อจะกระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรืออาจชักเกร็ง อัมพาต หมดสติ และเสียชีวิต
ข้อปฏิบัติสำคัญหากสงสัยว่าถูกสุนัขบ้ากัด ให้รีบล้างแผลให้เร็วที่สุดด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง จากนั้นเช็ดแผลให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ หากไม่มีใช้แอลกอฮอลล์หรือทิงเจอร์ไอโอดีนแทน พร้อมจดจำลักษณะของสัตว์ที่กัด พร้อมสืบหาเจ้าของเพื่อซักถามประวัติการฉีดวัคซีคป้องกันโรค จากนั้นรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีคป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าประมาณ 4-5 เข็ม ไม่ได้ฉีดรอบสะดือทุกวันเหมือนในอดีต.-สำนักข่าวไทย