เมืองทอง 19 มี.ค. – ทีมเศรษฐกิจร่วมแจงแผนเมกะโปรเจ็กต์ ย้ำไทยพร้อมต้อนรับลงทุน เพื่อก้าวกระโดดครั้งใหญ่ เชื่อไทยเป็นศูนย์กลางความเติบโตการลงทุนใน 15 ปีข้างหน้า
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในหัวข้อ “เร่งเครื่องขับเคลื่อนไทยสู่มิติใหม่” ว่า ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลงจากที่เคยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี เหลือร้อยละ 0-3 เท่านั้น เมื่อรัฐบาลอัดฉีดงบเพียงปีละ 300,000-400,000 ล้านบาทเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้ากลายเป็นคนแก่ ดังนั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายประเทศไทย 4.0 ไทยได้กลับมาเป็นหนุ่มอีกครั้ง โดยมียุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปีข้างหน้าไทยจะก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนา ประชากรมีรายได้ต่อหัวของประชากรต่อคนต่อปี 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 5-6 ต่อปี ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อยต้องอยู่ที่อันดับที่ 15
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ไทยกำลังเชื่อมโยงสู่อาเซียนและในช่วง 15 ปีข้างหน้าอาเซียนจะเป็นพื้นที่ที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดของการลงทุนในโลก โดยไทยอยู่จุดศูนย์กลางของศูนย์กลางของอาเซียน นอกจากนี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างวางแผนความร่วมมือกับกลุ่มประเทศ CLMV เป็นการร่วมมือที่รวมไทยด้วย คือ CLMVT เพื่อเชื่อมโยงทุกด้าน รวมถึงเชื่อมต่อไปยังประเทศจีนและอินเดีย ทำให้มีตลาดรองรับธุรกิจถึง 3,000 ล้านคน นอกจากนี้ รัฐบาลจะผลักดันให้การเชื่อมต่อภายในกลุ่มประเทศอินโดจีนเป็นไปอย่างไร้พรมแดน โดยขณะนี้กรมศุลกากรอยู่ระหว่างดำเนินการให้ผู้ประกอบการในไทยที่จะเชื่อมโยงโครงข่ายการผลิตในหลายประเทศในอินโดจีน สามารถเดินทางเข้าออกได้อย่างสะดวก ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้ออกไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อลดต้นทุน ผสานกับมีการนำเทคโนโลยีใช้ในกระบวนการผลิต พร้อมกันนี้ยังแสวงหาตลาดใหม่ บีโอไอเล็งไปที่ประเทศบังกลาเทศที่เศรษฐกิจเติบโตร้อยละ 7.2 ต่อปี มีประชากรกว่า 800 ล้านคน
ด้านการเตรียมความพร้อมรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ ที่ผ่านมาไทยมีการปรับปรุงกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงในเรื่องการออกวีซ่า รวมถึงได้มีการยกระดับความง่ายในการทำธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งไทยเป็น 2 ประเทศที่มีการพัฒนาอย่างมาก จากที่เคยอยู่ในดับ 46 ปรับขึ้นล่าสุดเป็นอันดับ 26 ซึ่งได้รับการยกจากธนาคารโลกว่าเป็นประเทศที่มีการพัฒนาที่ดีเด่นองจากประเทศบรูไน
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า นโยบายของกระทรวงคมนาคม ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ นับจากนี้ไปจะเป็นไปอย่างก้าวกระโดดครั้งใหญ่ เพื่อพัฒนาการขนส่งทั้งทางน้ำ ทางอากาศ ทางรถ ทางระบบราง ภายใต้แนวคิด One Seamless Transport หรือการขนส่งไร้รอยต่อ และเป็นระบบคมนาคมแบบเวอร์คลาส โดยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่ง ระบบราง แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ รถไฟขนส่งสินค้า ด้วยการลงทุนพัฒนารถไฟรางคู่ ที่จะพัฒนาเป็นระบบไฟฟ้าต่อไป ส่วนที่ 2 รถไฟความเร็วสูงขนส่งคน และรถไฟขนส่งคนในกรุงเทพฯ 10 สายทาง ด้านท่าเรือ มีการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุด จากรองรับตู้สินค้าได้ 7 ล้าน BTUต่อปี เพิ่มเป็น 15 ล้าน BTUต่อปี และพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และท่าอากาศยานอู่ตะเภา ให้รองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีเที่ยวบินมากถึงปีละ 1 ล้านเที่ยวบิน และในอนาคตเพิ่มเป็น 3 ล้านเที่ยว ดังนั้น ไทยจึงเป็นศูนย์กลางการบิน พร้อมกันนี้ยังมีการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 ท่าอากาศยานด้วย
นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) กล่าวว่า เพื่อเตรียมการด้านแรงงานที่มีทักษะตรงกับความต้องการของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย รัฐบาลได้ผลักดันให้นักเรียนอาชีวศึกษาทั้งระดับ ปวส.และ ปวช.มีทักษะพร้อมเข้าทำงาน ขณะเดียวกันนักลงทุนไม่ต้องกังวลเรื่องการขาดแคลนแรงงานฝีมือ เพราะไทยเป็นแรงงานฝีมือผ่านการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะ ด้านนักวิจัยไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากผู้ที่จบระดับดอกเตอร์ด้านวิจัยปัจจุบันทำงานกับภาครัฐมากถึง 10,000 คน จึงเป็นโอกาสมากในการเข้ามาทำงานกับเอกชนไทย พร้อมกันนี้ผู้เข้ามาลงทุนยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษียกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 15 ปี ขณะที่บุคลากรอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บร้อยละ 15 ต่ำที่สุดในอาเซียน เป็นต้น. – สำนักข่าวไทย