มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 17 มี.ค.-“อภิสิทธิ์-ปริญญา” ยอมรับพลังโซเชียลเปลี่ยนแปลงการเมืองได้จริง ถือเป็นประชาธิปไตยยุคใหม่ มีพลังในการตรวจสอบถ่วงดุล ชี้นักการเมืองต้องปรับตัว ขณะที่ “อธึกกิต” เชื่อพลังโซเชียลไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทันที แต่เป็นเพียงเครื่องมือในการระบายความรู้สึกทางอารมณ์ของคนที่สุดโต่ง
สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดสัมมนาสาธารณะ หัวข้อ “พลังโซเชียลเปลี่ยนการเมืองไทย…จริงหรือ?” โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายอธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์ เจ้าของนามปากกาใบตองแห้ง เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
โดยนายอภิสิทธิ์ ยอมรับว่า พลังโซเชียลเปลี่ยนแปลงการเมืองได้จริง เพราะการเมืองเป็นเรื่องของความคิด การต่อสู้ทางความคิด และข้อมูล ซึ่งการสื่อสารมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป โซเชียลมีเดียสามารถทำให้ทุกคนเป็นผู้ผลิตสื่อได้ จึงทำให้ไม่แน่ใจว่าการสื่อสารต่อจากนี้ ประชาชนจะเชื่อสื่อหลักเพียงอย่างเดียวหรือไม่ เพราะสื่อกระแสหลักที่เคยมีอิทธิพลในอดีต ยังให้ความสำคัญกับโซเชียลมีเดีย ทำให้นักการเมืองต้องปรับตัวและให้ความสำคัญกับโซเชียลมีเดีย ใช้เป็นสมรภูมิหลักในการต่อสู้ทางการเมือง โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีโอกาสเลือกตั้งครั้งแรกถึง 7 ล้านคนที่ใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งทำให้นักการเมืองต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการหาเสียง จากเดิมที่ต้องจัดเวทีปราศรัย มาเป็นเฟซบุ๊คไลฟ์ ที่อาจมีคนติดตามมากเช่นกัน
นายอภิสิทธิ์ ยอมรับว่า โซเชียลมีเดียมีพลังในการตรวจสอบถ่วงดุล เห็นได้จากหลายกรณี เช่น กรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่แม้ยังไม่ได้คำตอบ แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลก็ได้รับผลกระทบทางคะแนนนิยมอย่างหนัก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องระมัดระวังในการตรวจสอบ จากเดิมที่อาจจะมีแผนให้ออกมาในทิศทางใดทิศทางหนึ่งก็อาจจะต้องคิดหนัก ขณะเดียวกันการใช้โซเชียลมีเดียในทางกลับกันต้องระมัดระวัง เพราะยังขาดการควบคุม แยกแยะ และไตร่ตรองข้อเท็จจริง โดยเฉพาะทางการเมือง ในช่วงเลือกตั้ง กกต.ควรวางกติกาให้ชัดเจนเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ ซึ่งทำให้เกิดความได้เปรียบและเสียเปรียบ ดังนั้นโจทย์ใหญ่ คือ จะทำอย่างไรในการนำพลังตรงนี้ไปสู่พลังที่สร้างสรรค์
ด้านนายปริญญา กล่าวว่า โซเชียลมีเดียทำให้คนอยู่ในโลกความจริงมากขึ้น เพราะสมาร์ทโฟนเปรียบเสมือนกล้องวงจรปิดเคลื่อนที่ที่พร้อมจะบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ไว้เป็นหลักฐาน เช่น กรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร ที่เริ่มต้นจากการเปิดเผยข้อมูลจากเว็บเพจในโซเชียล ก่อนที่สื่อกระแสหลักจะตามประเด็นต่อ ซึ่งถือว่าโซเชียลทีเดียมีผลทำให้เกิดกระแสต่อสังคม เกิดการรวมกลุ่มของคนที่มีแนวคิดคล้ายกัน และในทางการเมืองปัจจุบันถือเป็นยุคที่ใช้สมาร์ทโฟนขับเคลื่อนประเทศ ประชาชนสามารถเรียกร้องในสิ่งที่ตนเองต้องการได้ ขณะเดียวกันโซเชียลมีเดียถือเป็นประชาธิปไตยยุคใหม่ คือ ประชาธิปไตยที่เป็นของคนทุกชนชั้น ทุกคนมีสิทธิแสดงออกทางความคิด ไม่มีเพศและอายุ ที่สำคัญการชุมนุมเรียกร้องสามารถเกิดได้ในโซเชียล
นายอธึกกิต เชื่อว่า พลังโซเชียลจะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในทันที เพราะทิศทางการเคลื่อนไหวยังไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่มีผลทางกฎหมาย และเป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้ในการะบายความรู้สึกทางอารมณ์ จนเป็นที่มาของคำว่า ลูกขุนออนไลน์ มีการสร้างกระแสอารมณ์ของคนที่สุดโต่ง และตัดสินเรื่องราวไปบนพื้นฐานความรู้สึก โดยไม่ฟังความรอบข้าง ซึ่งบางครั้งเกิดการตีกลับเมื่อมีข้อมูลใหม่ ๆ ออกมา เช่น คดีหวย 30 ล้าน หรือกรณีป้าทุบรถ ซึ่งสะท้อนปรากฎการณ์ของรัฐที่ล้มเหลว แต่สิ่งที่ตามมาคือการเรียกร้องให้รัฐใช้อำนาจแบบสุดขั้ว และต้องเอาใจโซเชียล ดังนั้นโซเชียลยังมีภาพของความสุดโต่ง ซึ่งจะเกิดปัญหาตามมา ซึ่งถือเป็นจุดอ่อน ดังนั้นภาพรวมโซเชียลมีเดียจึงเป็นภาวะของสังคมที่เกิดการสะท้อนภาพการไม่ไว้ใจอำนาจเชิงระบบรัฐ นักการเมือง นักวิชาการ สื่อ พระภิกษุ ครู หรือแม้แต่องค์กรอิสระ ที่เกิดความเสื่อม.-สำนักข่าวไทย