จุฬาฯ15 มี.ค.-นักวิชาการวงจุฬาฯเสวนา”ฝ่าวิกฤติโรคพิษสุนัขบ้า”ชี้ set zero กำจัดสัตว์เลี้ยงไม่มีเจ้าของให้หมด ไม่เเก้ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า หากมีการปล่อยเพิ่มทุกปี ขณะเดียวกันพบเชื้อพิษสุนัขบ้ามากขึ้นทุกปี เเต่มีการใช้วัคซีนน้อยลง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯเสวนา “ฝ่าวิกฤตโรคพิษสุนัขบ้า” เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสาธารณชนเกี่ยวกับเรื่องโรคพิษสุนัขบ้าที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเเล้ว 4 ราย เเละมีการเเพร่ระบาดของโรคเเล้วกว่า 41 จังหวัด โดยการเสวนามีนักวิชาการเเละผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเสวนาเเละเเลกเปลี่ยนความคิดเห็นจำนวนมาก
สัตวแพทย์หญิงเบญจวรรณ สิชฌนาสัย ผู้อำนวยการสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในกรุงเทพมหานครมีอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าลดลงทุกปี ซึ่งในปี 2559 มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เเละหลังจากนั้นยังไม่พบผู้เสียชีวิต ส่วนสุนัขหรือสัตว์ที่ตายจากโรคปี 2561 พบ 6 ตัว ซึ่งลดลงเป็นจำนวนมากจากหลายปีก่อนที่พบสูงถึง 600 ตัว พื้นที่ส่วนใหญ่ที่พบว่ามีโรคระบาด คือเขตลาดกระบัง หนองจอกเเละบางขุนเทียน ขณะที่ปีนี้พบที่เขตบางเขน บางซื่อ ดอนเมืองเเละจตุจักร ซึ่งจะเห็นได้ว่าโรคนี้ไม่ได้พบทั่วไปอย่างไวรัสตัวอื่นๆ เเต่เกิดจากการเคลื่อนย้ายสัตว์ไปยังพื้นที่ต่างๆ ส่วนโรคจะพบได้ทุกฤดูกาลไม่ใช่เเค่ฤดูร้อนอย่างที่หลายคนเข้าใจ
โดยกทม.มีมาตรการเน้นสร้างภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้า ออกฉีดวัคซีน 500 หน่วยในเวลา 10 วัน พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนทั่วคลินิกสัตวเเพทย์ที่เปิดให้บริการทั่วกทม.8 เเห่ง พร้อมควบคุมจำนวนพาหะนำโรคโดยการทำหมันสัตว์เเละลดต้นตอของปัญหา โดยการจดทะเบียนสุนัขมีเจ้าของตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ.2548 ซึ่งที่ผ่านมายังพบปัญหาอุปสรรค ประชาชนปล่อยทิ้งสุนัขเพิ่มขึ้นทุกปี จากสถิติเเต่ละปี กทม.ทำหมันสุนัขปีละ 20,000-30,000 ตัว ซึ่งหากไม่ปล่อยออกมา ก็จะป้องกันสัตว์ไม่ให้เป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ ซึ่งที่มีหลายฝ่ายเสนอให้กำจัดสุนัขจรจัดไปให้หมดจะช่วยเเก้ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าได้ ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริงเพราะย้อนไปหลายสิบปี กทม.เคยทำลายสุนัขจรจัด เเต่เเม้ทำลายหมดเเต่ก็มีการปล่อยเพิ่มมาทดเเทน ปัญหาเหล่านี้คือไม่หายไป ขณะเดียวกันอุปสรรคอีกอย่างคือประชาชนไม่ค่อยพาสุนัขออกมาฉีดวัคซีน เลี้ยงสัตว์โดยไม่มีความรับผิดชอบ ที่สำคัญการบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
ด้านนายสัตวแพทย์วีระ เทพสุเมธานนท์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒินายสัตวแพทย์ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย กล่าวว่าขอยืนยันเเม้มีการกำจัดสุนัขที่ไม่มีเจ้าของให้หมดไปอย่างที่ประเทศจีนเคยทำ เเต่ก็ไม่ทำให้โรคพิษสุนัขบ้าลดลง โดยโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคการติดเชื้อไวรัสที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ทำให้ไม่ทราบว่าติดเชื้อเเล้วหรือไม่ ทำให้สัตว์ป่วยเเละตาย ส่วนคนที่มีโรคจะติดเชื้อทางน้ำลายต้องรักษาขณะที่ไวรัสยังไม่เข้าเส้นประสาท เเต่ถ้าโดนสุนัขกัดเข้าเส้นประสาทจะทำให้การรักษายาก ขณะที่หากพบสัตว์ต้องสงสัยให้ดูการ 10 วันหากพ้น 10 วัน สัตว์ไม่ตายเเสดงว่าไม่ติดโรคพิษสุนัขบ้า โดยสุนัขที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าจะมีอาการคางห้อยตกเสียงเห่าจะเเหบเเละใหญ่ขึ้น ลิ้นที่เเลบออกมามีสีเเดงคล้ำหรือเเเดงม่วงใช้ลิ้นเลียน้ำตากภาชนะได้ เเละเดินวิ่งโซเซทรงตัวได้ไม่ดี
ขณะที่ สัตวแพทย์หญิงสันนิภา สุรทัตต์ รองคณบดีนโยบายและแผน และอาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในไทยหากเปรียบเทียบย้อนหลัง 4 ปี ถือว่าปีนี้พบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆให้พื้นที่เดิมที่เคยพบโรคคือภาคเหนือตอนล่าง ตะวันออกเเละภาคกลางตามลำดับ โดยเชื้อกว่าร้อยละ 90 มาจากสุนัข ซึ่งคนจะไปติดเชื้อจากการสัมผัสหรือโดนสุนัขที่ได้รับเชื้อกัด เเต่ย้ำว่าเเม้โรคจะมีความรุนเเรงเเต่การรักษาได้ด้วยการฉีควัคซีน ขณะเดียวกันเรื่องการป้องกันหรือการฉีดวัคซีน จากตัวเลขกรมปศุสัตว์ปัจจุบันไทยมีสัตว์เลี้ยงกว่า 10 ล้านตัว ซึ่งหากตามทฤษฎีการระบาด ถ้าฉีดให้สัตว์เลี้ยงได้ร้อยละ70จะสามารถป้องกันโรคได้ เเต่จากสถิติพบว่าจำนวนสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆถ้าการใช้วัคซีนกลับสวนทางกันคือลดลงเรื่อยๆ อย่างปี 2557 ให้วัคซีน 20 ล้านโดสต่อสัตว์เลี้ยง 250 ตัว ขณะที่ตั้งเเต่ปี 2558-2560 โรคเพิ่มขึ้นเเละสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น เเต่กลับใช้วัคซีนลดลงเหลือเพียง5-10 ล้านโดสเเละวัคซีนบางส่วนเริ่มไม่มีคุณภาพ ดังนั้นหากจะต้องการลดการติดเชื้อโดยการสร้างภูมิคุ้มกันฝูงให้ได้มาตรฐานหรือร้อยละ70ปัจจัยที่ควรทำให้ได้คือคุณภาพของวัคซีน ตัวสัตว์ สัดส่วนของสัตว์ที่มีภูมิคุ้มโรคเเละการเปลี่ยนเเปลงของจำนวนประชากรสัตว์ ขณะที่สถิติของ กทม.ในการใช้วัคซีนกับสัตว์เลี้ยงไม่ได้มีการสำรวจการใช้วัคซีนตั้งเเต่ปี2553 เนื่องจากบางหน่วยงานไม่ได้เก็บข้อมูลต่อเนื่อง เเต่หากสัตว์ที่มีเจ้าของส่วนใหญ่จะฉีดวัคซีนกว่าร้อยละ 80-90
ส่วนนางบุญโฮม แสนเมืองชิน ผู้แทนกลุ่มสานสายใยชีวิต SOS กล่าวว่า การเเก้ปัญหาที่ดีคือทุกคนต้องช่วยกันไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนี่ง ทุกคนเริ่มต้นด้วยตนเอง ดูเเลสัตว์เลี้ยงในบ้าน โดยการฉีดวัคซีน ถ่ายพยาธิ จากนั้นช่วยดูเเลสัตว์เลี้ยงในชุมชน ให้คำเเนะนำร่วมกันเป็นหูเป็นตาลดจำนวนหมาจรจัดที่จะออกลูกมาเป็นจำนวนมาก ส่วนหน่วยงานที่ทำงานด้านนี้ก็จะทำในลักษณะเดียวกัน คือการรณรงค์เเละช่วยเหลือ รวมถึงขอบเขตการทำงานก็จะต้องทำในขอบเขตพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมเเละการจัดสวัสดิภาพสัตว์พ.ศ.2557 ด้วย ทั้งนี้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการดูเเลสัตว์เลี้ยง จึงอยากให้หน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องให้ความรู้ประชาชนเพื่อลดความกลัวได้ .-สำนักข่าวไทย