รพ.จุฬาฯ 8 มี.ค.-แพทย์จุฬาฯ เผยโรคไหลตายส่วนหนึ่งเกิดจากพันธุกรรม แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุให้ผลประสิทธิผลดี แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกสิทธิการรักษา
นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นพ.กุลวี เนตรมณี อาจารย์พิเศษฝ่ายวิจัยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการไขความลับทำอย่างไรคนไทยจะไม่ไหลตายจากการถอดรหัสพันธุกรรมคนไทย 750 คนด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่และการจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุ ว่า ภาวะไหลตายพบได้ในคนทั่วโลก แต่สำหรับประเทศไทย พบอัตราการป่วยและเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 1-2 และพบมากในบางภาคเท่านั้น พบในเพศชาย วัยทำงาน อายุประมาณ 25-55 ปี จากการศึกษาพบว่าภาวะไหลตาย เกิดจาก หัวใจมีการเต้นไหวหรือบีบรัดผิดปกติ และพบว่าประมาณร้อยละ 18-40 ของผู้ป่วยเกิดจากพันธุกรรม และหากเมื่อมีอาการของโรค ผู้ป่วยแม้รอดชีวิต แต่ก็มีโอากสซ้ำอีก
ทั้งนี้ มีความพยายามในการรักษาและป้องกันด้วยการใส่เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ แต่มีความยุ่งยากในการใส่ เสี่ยงติดเขื้อ และมีราคาแพง เนื่องจากต้องมีการเปลี่ยนเครื่องทุกๆ 6-7 ปีไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง เสียค่าใช้จ่ายสูง 400,000 บาทต่อครั้ง จากการศึกษาพบว่าการจี้หัวใจสามารถให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่า และสามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที ในกลุ่มผู้มีคลื่นหัวใจผิดปกติ หรือภายหลังมีการแสดงอาการไหลตายครั้งแรก แต่ทั้งนี้ยังไม่ครอบคลุมทุกสิทธิรักษา
สำหรับอาการหลตาย หัวใจเต้นผิดจังหวะสมองขาดออกซิเจนเกิดอาการชักเกร็งหายใจติดขัดคล้ายนอนละเมอไม่รู้สึกตัวซึ่งความผิดปกติเหล่านี้มักพบขณะหลับและส่งผลให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะและหัวใจหยุดเต้นเองได้ -สำนักข่าวไทย