กรุงเทพฯ 5 มี.ค. – สมาชิกสหภาพฯ จี้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญ คัดค้านเอ็มโอยูชะลอโรงไฟฟ้าถ่านหิน
สมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ สร.กฟผ.ส่วนหนึ่งส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพฯ กฟผ. โดยระบุว่าตามที่ สร.กฟผ.ได้นำสมาชิกยื่นหนังสือต่อนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรื่อง ขอความชัดเจนนโยบายและทิศทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย เนื่องมาจากบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเครือข่ายปกป้อง 2 ฝั่งทะเล กระบี่-เทพา
ทั้งนี้ การสอบถามของ สร.กฟผ.ไม่ได้ระบุกำหนดเวลาให้รัฐมนตรีพลังงานตอบคำถาม เท่ากับ สร.กฟผ.ยืดเวลาให้กับรัฐมนตรีพลังงานแบบไม่มีกำหนด จึงไม่มีผลทางปฏิบัติแม้แต่น้อย ซึ่งพนักงาน กฟผ.ย่อมมีความเคลือบแคลงต่อ สร.กฟผ.เสมือนหนึ่งเดียวกับรัฐมนตรีหรือไม่ และเห็นว่าต้อง “ให้ยกเลิกเอ็มโอยู” ฉบับนี้ เพราะการทำเอ็มโอยูครั้งนี้เป็นการกระทำโดยมิชอบ คือ 1.การสั่งให้ กฟผ.ถอนร่างรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีเอชไอเอ) ของโรงไฟฟ้ากระบี่และเทพาออก เป็นการขัดต่อมติของคณะรัฐมนตรี เพราะสิ่งที่ กฟผ.ปฏิบัติเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ถ้า กฟผ.ปฏิบัติตามคำสั่งรัฐมนตรีพลังงานก็เท่ากับขัดมติคณะรัฐมนตรี
2.เครือข่ายฯ สั่งให้กระทรวงพลังงานจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (เอสอีเอ) การจัดทำรายงานเอสอีเอต้องทำหลังจากที่มีระเบียบปฏิบัติชัดเจนแล้ว และระเบียบปฏิบัติใด ๆ ที่เกิดขึ้นหลังย่อมไม่มีผลต่อการปฏิบัติที่แล้วมา และระเบียบปฏิบัตินั้นต้องผ่านกฎหมาย หรือมติคณะรัฐมนตรีแล้วเท่านั้น 3.ขั้นตอนอีเอชไอเอ หลังจากทำเอสอีเอ แล้วต้องให้มีคนกลางที่ยอมรับร่วมกัน ขั้นตอนนี้เป็นไปได้ยาก เพราะคำว่าคนกลางที่ยอมรับร่วมกันไม่มีกฎเกณฑ์ใดวัดได้ว่าใครเป็นคนกลาง 4.ยกเลิกคดีความระหว่าง กฟผ.และเครือข่าย ซึ่งถ้ายกเลิกตามคำขอก็เท่ากับก้าวล่วงอำนาจศาล
การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีข้อตกลงหรือได้รับคำสั่งจากเครือข่ายฯ โดยไม่ผ่านมติคณะรัฐมนตรีและไม่มีกฎหมายรองรับ จากนั้นออกคำสั่งให้ กฟผ.ปฏิบัติตาม จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดเจน กฟผ.ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม แต่เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอ้างถึงข้อตกลงเอ็มโอยูแล้วสั่งการให้ กฟผ.เท่ากับรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ดังนั้น สิ่งที่ สร.กฟผ.ต้องต่อสู้เพื่อชัยชนะโดยการให้ “ยกเลิกเอ็มโอยู” เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานปฏิบัติหน้าที่ถูกต้อง ไม่ใช่ขอความชัดเจนในนโยบายเท่านั้น ผลของการลงนามเอ็มโอยูไม่ได้เป็นตามวัตถุประสงค์ คือ เพื่อยุติความขัดแย้งแต่อย่างใด กลับเป็นการเพิ่มความขัดแย้งมากขึ้น เห็นได้จากเครือข่ายคนเทพา เพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ขอแจ้งความดำเนินคดีต่อรัฐมนตรีพลังงานตามมาตรา 157 ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่ยอมรับ และคัดค้านข้อตกลงทั้งหมด ไปยื่นต่อศาลปกครองออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวและไต่สวนฉุกเฉิน จะรอผลการดำเนินการที่เกี่ยวข้องตามข้อเรียกร้อง เพื่อจะกำหนดการยกระดับการดำเนินการ และจะยื่นถวายฎีกาเพื่อขอความเป็นธรรม
การต่อสู้ความไม่เป็นธรรมครั้งนี้ถือเป็นมิติใหม่ของการต่อสู้ของพนักงาน กฟผ. เพราะประชาชนร่วมต่อสู้ กฟผ.ด้วยความเต็มใจ กฟผ.ไม่ได้หนุนประชาชนในการต่อสู้ครั้งนี้ เนื่องจากประชาชนต้องการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน เพราะ กฟผ.เป็นสมบัติของประชาชน ถ้าผู้บริหารและพนักงาน กฟผ.ปฏิเสธการเข้าร่วมต่อสู้ของประชาชนครั้งนี้ก็เท่ากับเป็นไส้ศึก บ่อนทำลาย กฟผ. เพราะ กฟผ.จะไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าได้อีกต่อไป จะไม่มีประชาชนพื้นที่ใดในประเทศนี้ไว้วางใจอีก
ดังนั้น จึงขอให้ สร.กฟผ.ในฐานะเป็นตัวแทนพนักงาน กฟผ.ออกมาต่อสู้ร่วมกับประชาชน โดยการเปิดประชุมใหญ่วิสามัญตามข้อบังคับ สร.กฟผ.หมวด 8 ข้อ 2 โดยใช้อำนาจของกรรมการบริหาร สร.กฟผ.เพื่อให้สมาชิกพิจารณามาตรการและวิธีการต่อสู้เพื่อชัยชนะ เพื่อปกป้องผลของประเทศชาติและประชาชนทันที หากกรรมการบริหารฯ ไม่ดำเนินการ จะรวบรวมรายชื่อสมาชิกผู้มีสิทธิ์ทำหนังสือร้องต่อคณะกรรมการบริหารฯ เรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในเวลา 30 วัน ตามที่กำหนดตามในข้อบังคับฯต่อไป.-สำนักข่าวไทย