องค์การเภสัชกรรม 26 ก.พ.-สธ.เผยอัตราตายซึมเศร้า-ฆ่าตัวตายคนไทยยังไม่ขยับ ชี้เหตุเป็นข่าวเพราะคนดัง ส่วนรูปแบบการฆ่าตัวตายส่วนใหญ่เกิดจากประสบการณ์ความคิด ผูกคอ กินยาครองแชมป์
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคซึมเศร้า นับโรคทางจิตเวชและนับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่พบได้มากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากมีช่องทางการเข้าถึงการบริการให้คำแนะนำและปรึกษา โดยบุคคลรอบข้าง มีส่วนช่วยในการสังเกต หากพบเจอสามารถช่วยเหลือ ซึ่งผู้ที่อาการของภาวะซึมเศร้าจะมีสภาพจิตใจและอารมณ์ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มองในแง่ลบ
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โรคซึมเศร้าในไทยไม่ได้พบเพิ่มมากขึ้นจากเดิม โดยเฉลี่ยของผู้ป่วยยังคงอยู่ที่ 1.5 ล้านคน เนื่องจากโรคซึมเศร้าเป็นโรคเรื้อรังต้องใช้เวลานานในการรักษา ขณะที่ทุกสาเหตุของการฆ่าตัวตายไม่จำเป็นต้องมาจากการป่วยโรคซึมเศร้าเพียงแต่ร้อยละ50 ของการฆ่าตัวตายมาจากซึมเศร้า ส่วนสาเหตุที่มักเป็นข่าวหรือได้รับความสนใจตามหน้าสื่อ เพราะคนที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเป็นบุคคลมีชื่อเสียง ส่วนอาการป่วยหรือไม่ต้องให้ญาติเป็นผู้เปิดเผย สำหรับคนที่มีอาการป่วยซึมเศร้าเสี่ยงฆ่าตัวตาย จะแสดงอาการอย่างน้อย2สัปดาห์และภาวะความคิดลบ เปรยหาทางออกไม่เจอ และยังอยู่ในช่วงคิด หรือหาวิธีการฆ่าตัวตาย
พญ.พรรณพิมล กล่าวอีกว่า สำหรับรูปแบบของการฆ่าตัวตาย มักเป็นการใช้ประสบการณ์ความคิดของตนเองเป็นหลัก จากข้อมูลของไทย พบว่า การทำอัตวินิบาตกรรมของผู้ป่วยซึมเศร้าใช้ แขวนคอตาย ,ใช้สารเคมี,อาวุธและกระโดดที่สูง ซึ่งเป็นความคิดชั่ววูบ แค่ไม่นาน ดังนั้นหากพบผู้ที่มีอาการวิตกกัวล เครียด หาทางออกไม่เจอ บ่นอยากฆ่าตัวตายมีความคิดเปลี่ยนไป หงุดหงิดง่าย หดหู่. ก็ควรพบจิตแพทย์ทันที. .-สำนักข่าวไทย