สำนักข่าวไทย 25 ก.พ.-ไปดูสถิติการเสียชีวิตของตำรวจ ข้อมูลจากโรงพยาบาลตำรวจพบว่า อาชีพตำรวจที่มีความกดดันในการทำงานสูง มีสถิติการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า
สำนักข่าวไทยตรวจสอบข้อมูลจากโรงพยาบาลตำรวจพบว่า สถิติการฆ่าตัวตายของตำรวจ ในปี 2551-2556 พบมากถึง 155 คน โดยช่วงอายุของการเสียชีวิตไม่แตกต่างกัน ทั้งระดับชั้นประทวน และสัญญาบัตร คือ อายุ 40-52 ปี
สายงานที่พบฆ่าตัวตายมากที่สุด ได้แก่ สืบสวนปราบปราม รองลงมา ฝ่ายอำนวยการ และงานด้านจราจร กองบัญชาการที่มีการฆ่าตัวตายมากที่สุดได้แก่ ตำรวจภูธรภาค 5 รองลงมาตำรวจภูธรภาค 3 และกองบัญชาการตำรวจนครบาล
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ตำรวจตัดสินใจฆ่าตัวตาย อันดับ 1 ปัญหาครอบครัว 54 นาย อันดับ 2 ปัญหาสุขภาพ 48 นาย อันดับ 3 ปัญหาส่วนตัว 20 นาย อันดับ 4 ปัญหาหนี้สิน 18 นาย และอันดับ 5 ปัญหาเรื่องงาน 10 นาย
ส่วนโรคซึมเศร้า ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตำรวจไทยตัดสินใจฆ่าตัวตาย โดยจากข้อมูลปี 2560 พบตำรวจป่วยโรคซึมเศร้าขอคำปรึกษา 170 นาย ส่วนใหญ่เครียดสะสมจากการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งความรุนแรงของโรคมี 3 ระดับ ระดับขั้นต้น จะมีอาการซึมเศร้า นอนไม่หลับ ระดับกลาง จะคิดทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น ไม่สามารถคุมตัวเองได้ และระดับสูงสุด คือ มีอาการหลอน หูแว่ว ถึงขั้นฆ่าตัวตาย
ส่วนสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2558-2560 มีข้าราชการตำรวจ, ครอบครัว และประชาชนทั่วไป เข้ารับบริการกลุ่มโรคซึมเศร้า 1,980 คน แบ่งเป็นปี 2558 จำนวน 479 คน ปี 2559 จำนวน 640 คน และปี 2560 จำนวน 861 คน.-สำนักข่าวไทย