กรุงเทพฯ 25 ก.พ. – กสิกรไทยคาดสัปดาห์หน้าเงินบาท 31-31.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ดัชนีหุ้นไทย 1,790-1,840 จุด ตลาดจับตาถ้อยแถลงประธานเฟดเกี่ยวกับการปรับดอกเบี้ย
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา (19-23 ก.พ.) เงินบาททยอยอ่อนค่า โดยเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ ตามแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ก่อนการเปิดเผยบันทึกการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดือนมกราคม นอกจากนี้ กระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐและการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ก็เป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนการฟื้นตัวของเงินดอลลาร์ฯ ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อทำกำไร และปรับโพสิชันจากที่แข็งค่าขึ้นมาในช่วงก่อนหน้านี้ สำหรับวันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับ 31.47 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากระดับ 31.31 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
สำหรับสัปดาห์หน้า (26 ก.พ.-2 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.00-31.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยในประเทศที่ต้องจับตาจะอยู่ที่รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนมกราคมและตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ของไทย ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ สุนทรพจน์เกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินของประธานเฟดต่อสภาคองเกรส ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ อาทิ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย ข้อมูลรายได้-การใช้จ่ายส่วนบุคคล และตัวเลขเงินเฟ้อที่วัดจาก Core PCE Price Index เดือนมกราคม 2561 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนกุมภาพันธ์ 2561 นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดด้วยเช่นกัน
ส่วนดัชนีตลาดหุ้นไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา (19-23 ก.พ.) กลับมาปิดใกล้ระดับ 1,800 จุด แม้เผชิญแรงขายระหว่างสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,808.06 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.12 จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 35.61 จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 64,317.02 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai ปิดที่ 514.99 จุด ลดลงร้อยละ 2.24 จากสัปดาห์ก่อน สำหรับสัปดาห์หน้า (26 ก.พ.-2 มี.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,800 และ 1,790 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,815 และ 1,840 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ถ้อยแถลงของประธานเฟด (28 มี.ค.) ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ อื่น ๆ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลเดือนมกราคม และดัชนี ISM ภาคการผลิตเดือนก.พ. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีงวดไตรมาส 4/2560 ของประเทศในแถบยุโรป ตลอดจนดัชนี PMI ภาคการผลิตของหลายประเทศในยุโรปและเอเชีย.-สำนักข่าวไทย