สำนักงาน กกต. 23 ก.พ.- “สมชัย ศรีสุทธิยากร” เชื่อไม่มีใบสั่งล้มกระดานเลือกว่าที่ กกต.ทั้ง 7 คน ชี้ กติกาสร้างปัญหาใหญ่ ติดหล่มไร้ทางออก ทำได้แค่ต้องประคองสถานการณ์สรรหาให้ได้คนดี ยืนยัน กกต.ชุดปัจจุบันพร้อมทำงานเต็มที่ ไม่กระทบการเลือกตั้งใด ๆ ทุกประเภท
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์ มีใบสั่ง กรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติไม่เห็นชอบบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็น กกต.ทั้ง 7 คน ว่า ส่วนตัวไม่เชื่อว่ามีใบสั่งอย่างที่ปรากฎทางสื่อ เพราะถ้าดูจากคะแนนที่ผู้ได้รับการเสนอชื่อได้รับทั้งสูงสุดและต่ำสุด ค่อนข้างธรรมชาติมาก ถ้ามีใบสั่งคะแนนที่ได้จะต้องเกาะกลุ่มกันมากกว่า แต่ก็อาจเป็นเพราะเป็นการลงคะแนนลับด้วยทำให้ สนช. มีเสรีภาพไม่ต้องคำนึงว่าใครจะรู้ว่าลงคะแนนให้ใคร ส่วนสาเหตุที่ประชุม สนช.ไม่รับทั้งหมด คิดว่าประธาน สนช.คงจะพูดชี้แจงแทนสมาชิกทุกคนไม่ได้ เพราะเป็นการลงคะแนนลับ ไม่รู้ว่าสมาชิกแต่ละคนคิดอย่างไร แต่สมควรที่ประธาน สนช.จะต้องวิเคราะห์ให้ได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการไม่รับรองในรอบใหม่
นายสมชัย กล่าวว่า ส่วนตัววิเคราะห์ว่า 1. เป็นปัญหาในกระบวนการสรรหาตามกฎหมายใหม่ที่กำหนดให้การลงคะแนนทั้งของคณะกรรมการสรรหา และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาต้องทำโดยเปิดเผย ซึ่งเมื่อได้ตรวจสอบจากรายงานการประชุมของคณะกรรมการรสรรหายังพบว่าขาดความสมบูรณ์ว่ากรรมการสรรหาแต่ละคนลงมติเลือกใคร ส่วนของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา การใช้บัตรลงคะแนนโดยไม่รู้เป็นบัตรของใครถือว่าทั้ง 2 ส่วน ยังไม่ได้ใช้วิธีการลงคะแนนโดยเปิดเผยตามที่กฎหมายกำหนด คิดว่าคณะกรรมการทั้ง 2 ส่วนควรจะต้องใช้บทเรียนนี้ในการพิจารณาทบทวน เพราะเชื่อว่าเป็นส่วนที่สนช.มองว่าเป็นปัญหาจนไม่อาจลงมติรับรองได้ หากไม่ทบทวนก็จะทำให้การเสนอชื่อครั้งต่อไปถูกคว่ำ ซึ่งก็จะเสียของไปเรื่อย ๆ
นายสมชัย กล่าวว่า 2.เป็นปัญหาของผู้เขียนกฎกติกาที่มุ่งหมายให้ดีเลิศจนเกินความเป็นจริง เพราะถ้ามองว่าผู้ได้รับการเสนอชื่อมีปัญหาเรื่องความรู้ ความ สามารถ มือไม่ถึงที่จะมารับผิดชอบงานเลือกตั้ง ปัญหานี้จะไปโทษผู้ได้รับเสนอชื่อทั้ง 7 คนไม่ได้ เพราะผ่านการสรรหามา หรือจะโทษคณะกรรมการสรรหาว่าสรรหาอย่างไรจึงได้คนที่มือไม่ถึง ก็ไม่ควร เพราะคณะกรรมการสรรหาทำภายใต้กรอบกติกาที่มี ดังนั้นถ้าจะโทษต้องโทษผู้เขียนกติกา
“ไปเขียนกติกาว่าต้องลงคะแนนสรรหาโดยเปิดเผย ทำให้เกิดปัญหาว่าเลือกได้กกต. 2 คน แต่ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่ผู้พิพากษา หรือเขียนว่า กกต.ต้องมีคุณสมบัติขั้นเทพ ต้องเคยดำรงตำแหน่งเทียบเท่ากับหัวหน้าส่วนราชการและเป็นไม่น้อยกว่า 5 ปี ผลที่เกิดใต้กติกาทำให้ผู้มีคุณสมบัติในการทำงานตกเสป็ก รองปลัดกระทรวงสมัครก็ถูกคัดออก เพราะหัวหน้าส่วนราชการถูกตีความว่าต้องเป็นปลัดกระทรวง เป็นผบ.ทบ. หรือ ผบ.ตร. และยังต้องเป็นมาแล้ว 5 ปี ถามว่าในประเทศไทยนี้จะมีใครบ้างที่เป็นตำแหน่งเหล่านี้นาน 5 ปี แล้วยังไปเปิดให้กลุ่มครู ข้าราชการอื่น ๆ ถ้ามีใบประกอบวิชาชีพทำงานมา 20 ปี ก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติจึงได้คนเป็นครู เป็นอธิการบดี เข้ามา แต่การกำหนดกติกาเช่นนี้ทำให้คนที่ดีคนที่ทำงานได้ถูกกรองออกไป” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า ในการสรรหารอบใหม่คณะกรรมการสรรหาก็ควรที่จะยึดมติการตีความหัวหน้าส่วนราชการ ว่าผู้สมัครที่เป็นทหาร ตำรวจจะต้องเป็น ผบ.ทบ. ผบ.ตร. และดำรงตำแหน่งมาไม่น้อยกว่า 5 ปีไว้ ไม่เปลี่ยนบรรทัดฐาน การเขียนกติกาการได้มาซึ่งคณะกรรมการสรรหาอึดอัดกว่า เพราะไม่เพียงคุณสมบัติต้องเหมือน กกต. แต่ต้องเหนือกว่า เพราะต้องไม่ทำงาน หรือรับตำแหน่งใดในขณะสรรหาถือเป็นมหาเทพ เราจึงได้คนที่เกษียณอายุราชการเท่านั้น และยังต้องไม่เกี่ยวข้องหรือเคยทำงานกับองค์กรอิสระใด ๆ คือไม่เป็นที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการ จึงได้อดีตข้าราชการจากกระทรวงที่ไม่ได้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง การเลือกตั้งเลย เช่น อธิบดีกรมหม่อนไหม อธิบดีกรมข้าว เมื่อผู้สมัครไปแสดงวิสัยทัศน์ คณะกรรมการสรรหาก็อาจมีขีดจำกัดในการวิเคราะห์ ว่าความคิดของผู้สมัครสามารถนำมาใช้งานได้จริงหรือไม่
“ถ้าไปอ่านในรายงานของคณะกรรมการสรรหาที่เสนอต่อ สนช. ในส่วนการสัมภาษณ์ ผู้ผ่านการคัดเลือก จะเห็นว่าถามอย่างหนึ่ง ก็ตอบอย่างหนึ่ง และถ้าคนที่รู้เรื่องการเมืองการเลือกตั้ง ก็จะพูดได้การตอบแบบนี้ไม่ตรงประเด็น ดังนั้นจะไปโทษผู้สมัคร หรือกรรมการสรรหาไม่ได้ ต้องโทษคนเขียนกติกาที่คาดหวังความดีเลิศมากเกินไปหรือไม่” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า วันนี้ ทำอะไรไม่ได้แล้ว เพราะต้องไปแก้ไขกฎหมาย ดังนั้นโจทย์ใหญ่คือทำอย่างไรจะประดับประคอบสถานการณ์ให้การสรรหา ได้คนพอใช้ได้หรือดีระดับหนึ่ง ต้องทำให้คนยอมรับได้ ซึ่งเป็นโจทย์ที่กรรมการสรรหาชุดปัจจุบันต้องทำ จึงไม่ควรที่สังคมจะไปโทษคณะกรรมการสรรหา อย่าไปทำให้เขาน้อยใจจนลาออก เดือดร้อนต้องมาหากรรมการสรรหา ซึ่งก็หาได้ยากมาก และเดิมมีกรรมการสรรหา 6 คน จาก 7 คน แต่วันนี้ก็เหลือแค่ 5 คนแล้ว เพราะมีคนหนึ่งไปเป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งก็ทำให้ขาดคุณสมบัติการเป็นคณะกรรมการสรรหา
นายสมชัย ยังกล่าวว่า ในส่วนของ กกต.ก็ยืนยันว่าเราจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่ สิ่งที่คิดว่าจะรอชุดใหม่มาดำเนินการก็คงรอไม่ได้ เพราะกระบวนการสรรหาชุดใหม่น่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนเต็ม ฉะนั้นคาดว่าจะมีชื่อ กกต. ชุดใหม่เดือนสิงหาคม กกต.ชุดปัจจุบันก็จะทำงานต่อไป ไม่มีผลกระทบใด ๆ กับการเลือกตั้งทุกประเภท โดยในประชุม กกต.วันที่ 27 ก.พ. คงจะต้องหารือกำหนดท่าทีในเรื่อง การคัดเลือกเลขาฯ กกต. การออกระเบียบสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้ง และการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง จะดำเนินการไปเลยหรือไม่
“ผมคิดว่า เราควรมีหัวหน้าหน่วยงานมาทำงานเต็มที่ เพื่อเตรียมการในการเลือกตั้ง และการเลือกตั้งท้องถิ่นที่อาจจะมีขึ้น ซึ่งจะควบคุมได้ยากกว่าการเลือกตั้งทั่วไป เพราะมีเรื่องของการซื้อเสียง ก็จำเป็นที่ กกต.จะต้องคัดสรรผู้ตรวจการเลือกตั้งมาไว้ให้เพียงพอ เพื่อเข้าไปช่วยดูแล ส่วนในเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ เราก็จะเร่งรัด อย่างเรื่องหุ้นรัฐมนตรี ก็คิดว่าภายใน 2 เดือนนี้จะได้เห็นและ กกต.ชุดนี้จะวินิจฉัยว่าจะส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า สิ่งที่กังวล คือชุดใหม่มาช้าเท่าไหร่ เวลาที่จะเหลือจาการเตรียมการเลือกตั้งก็จะน้อยลง รากเหง้าของปัญหาคือ ไม่ควรเซตซีโร่ กกต.ชุดนี้ ถ้าคุณไม่เซตซีโร่แต่แรก ปัญหาวันนี้ก็คงไม่เกิด จะไม่มีปัญหาเรื่องการเปลี่ยนผ่าน จะด้วยปัญหาไม่อยากได้ปลาสองน้ำ ณ วันนี้ ได้ปลาสองน้ำแบบที่ตั้งใจหรือไม่ เมื่อเซตซีโร่แล้ว ก็ต้องรับสภาพกับปัญหาที่เกิด เราก็รับสภาพ เราเก็บของเตรียมส่งมอบงาน แต่ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าจะส่งมอบได้เมื่อไหร่ เมื่อส่งไม่ได้แล้วใกล้เลือกตั้ง การได้มือใหม่ในช่วงใกล้เลือกตั้งมากเท่าไร่ก็จะยิ่งเป็นปัญหา ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่าเราจะช่วยกันดูสถานการณ์อย่างไรให้เป็นการลงอย่างซอฟแลนดิ้ง ทำอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบ
เมื่อถามว่า เลขาฯ วุฒิสภาระบุว่าการสรรหา กกต.ใหม่ กฎหมายไม่ได้กำหนดเรื่องกรอบเวลาไว้ นายสมชัย กล่าวว่า ตามบทเฉพาะกาลของ พ.ร.ป. กกต. จะเขียนถึงการสรรหาครั้งแรกไว้ ว่าให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ซึ่งก็คิดว่าน่าจะเทียบเคียงจากตรงนี้ได้ และขณะนี้มีคณะกรรมการสรรหาอยู่แล้ว จึงน่าจะตัดขั้นตอนของการสรรหาคณะกรรมการสรรหา 20 วันออก กระบวนการ 90 วันน่าจะเริ่มนับเมื่อประธานศาลฎีกาได้รับจดหมายแจ้งจากประธาน สนช. ให้ดำเนินการสรรหา.- สำนักข่าวไทย