กรุงเทพฯ 16 ก.พ. – รมว.คมนาคมเร่ง รฟท.ขับเคลื่อนรถไฟทางคู่ นำหัวรถจักรไฟฟ้าวิ่งให้บริการ ขณะที่ปัญหาขาดแคลนพนักงานขับหัวรถจักร เตรียมเสนอ ครม.ปลดล็อครับคนเพิ่ม 1-2 เดือนนี้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางมอบนโยบายผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยกำชับให้เร่งขับเคลื่อนโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 1 อยู่ระหว่างการก่อสร้างและระยะ 2 ซึ่งเดือนมีนาคมนี้จะมีรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 อีก 2 เส้นทางเสนอให้ ครม.อนุมัติดำเนินการ คือ เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม
นอกจากนี้ ยังกำชับให้เร่งนำผลศึกษาการนำหัวรถจักรไฟฟ้ามาใช้วิ่ง หลังจากก่อนหน้านี้ รฟท.ทำการศึกษาความเหมาะสมไปแล้ว ซึ่งการใช้หัวรถจักรไฟฟ้าจะมีส่วนสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อม ขณะที่แผนเบื้องต้น รฟท.ได้ศึกษาเส้นทางที่เหมาะสมสามารถนำหัวรถจักรไฟฟ้ามาวิ่งบริการได้ ประกอบด้วย เส้นทางกรุงเทพฯ-นครสวรรค์ กรุงเทพฯ -นครราชสีมา กรุงเทพฯ หัวหิน และกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา การเดินรถด้วยหัวรถจักรไฟ้ฟาต้องลงทุนเพิ่มทั้งหัวรถจักรและการปรับปรุงให้ทางรถไฟมีระบบเสาที่จ่ายไฟให้แก่หัวรถจักร โดยจะมีการพิจาณรายละเอียด เพื่อดำเนินการเส้นทางที่เหมาะสมเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งจาก 4 เส้นทาง เพื่อกำหนดงบประมาณการลงทุนอีกครั้ง
ส่วนการแก้ไขปัญหาขาดแคลนอัตรากำลังพล จากมติ ครม.ในอดีตจำกัดการรับพนักงานของ รฟท.แต่ละปีส่งผลให้ขณะนี้ขาดแคลนกำลังพลโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ขับหัวรถจักร แต่ในอนาคตการขยายงานรถไฟทางคู่และโครงการอื่น ๆ รฟท.มีความต้องการกำลังเจ้าหน้าที่เพิ่มอีกจำนวนมาก โดยมีความต้องการอัตรากำลังต่อปีไม่น้อยกว่า 19,000 คน ขณะที่ปัจจุบันมี 14,000 คน โดยกระทรวงคมนาคมจะเร่งนำเสนอ ครม.เพื่อปลดล็อคให้รับคนเพิ่มได้ภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า รวมทั้งจะมีการยกระดับโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟที่เปิดสอนให้ได้มาตรฐานและสามารถผลิตบุคลากต่อปีเพิ่มขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าโครงการรถไฟทางคู่ระยะ 2 จะเข้าสู่การพิจารณา ครม.เดือนมีนาคมนี้ สำหรับเส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 กม. งบลงทุนกว่า 85,000 ล้านบาท ขณะที่รถไฟทางคู่เส้นทางบางไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. งบลงทุนกว่า 60,000 ล้านบาท ส่วนการลงทุนเพื่อเดินหัวรถจักรไฟฟ้า รฟท.ได้ดำเนินการศึกษาพบว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งการซื้อหัวรถจักรไฟฟ้า การก่อสร้างทางที่จะต้องมีเสาจ่ายไฟและการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงหัวรถจักรดังกล่าวจะมีต้นทุนอยู่ที่ 150 ล้านบาทต่อ กม. ขณะที่เส้นทางที่มีความเป็นไปได้จะมีการก่อสร้างมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ-นครสวรรค์ เนื่องจากเป็นเส้นทางสำคัญไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และรถไฟความเร็วสูงอยู่ระหว่างดำเนินการ.-สำนักข่าวไทย