ดีเอสไอ 16 ก.พ.-ยธ.ตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง ข้าราชการระดับสูงดีเอสไอข่มขู่ ข่มขืน นักธุรกิจสาว เตรียมประชุมสัปดาห์หน้า
นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม(ยธ.) กล่าวถึงกรณีที่สาววัย 38 ปี เจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจกองปราบปรามว่าถูกข้าราชการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญคดีพิเศษ ระดับ 9 สังกัดกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรมข่มขืน พร้อมถ่ายคลิปภาพไว้แบล็คเมล์ พร้อมนำเรื่องร้องเรียนกับ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษต้นสังกัด และได้มีการตั้งกรรมการสอบสวนแต่เรื่องก็เงียบไปโดยทราบว่า ผลสอบสรุปมีความผิดเล็กน้อยลงโทษแค่ตัดเงินเดือน ซึ่งไม่เป็นธรรม จึงให้ทนายฟ้องศาลจังหวัดพัทยาในคดีข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลนั้น ว่า เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญระดับสูง จึงเป็นอำนาจของปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งดีเอสไอได้รายงานมายังปลัดฯและได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงไปแล้วตั้งแต่วันที่ 6ก.พ.ที่ผ่านมาและได้แจ้งคำสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาลงนามรับทราบคำสั่งแล้วตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ.2561
อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐานจากผู้ถูกกล่าวหาและวางแนวทางกำหนดประเด็นการสอบสวน ซึ่งคณะกรรมการฯ จะเริ่มประชุมนัดแรกในสัปดาห์หน้าและหากมีพยานหลักฐานชัดเจน คาดกระบวนการสอบสวนทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายใน 180 วันตามที่กฎหมายกำหนด แต่หากข้อกล่าวหาของข้าราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรมนั้น เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจหน้าที่หรือเป็นอุปสรรคในการสอบสวน กระทรวงฯ ก็สามารถมีคำสั่งให้พักราชการข้าราชการดังกล่าวไว้ก่อนก็ได้ ซึ่งจากพิจารณาเบื้องต้นกรณีดังกล่าวมิได้เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจหน้าที่ทางราชการ และยังไม่พบว่าเป็นอุปสรรคในการสอบสวนทางวินัย แต่ถ้าหากมีประเด็นดังกล่าวข้างต้นเกิดขึ้นมาในระหว่างการสอบสวนฯ ก็สามารถมีคำสั่งพักราชการไว้ก่อนได้เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ การดำเนินการสอบวินัยร้ายแรงดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด แต่เป็นการดำเนินการทำคู่ขนานกันไป ซึ่งหากผลการสอบสวนวินัยร้ายแรงเป็นการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหาจริง โทษวินัยร้ายแรงจะมี 2 สถาน คือปลดออก เป็นการลงโทษให้พ้นจากราชการ โดยได้รับบําเหน็จ บํานาญเสมือนผู้นั้นลาออกจากราชการ หรือไล่ออก ซึ่งเป็นการลงโทษให้พ้นจากราชการ โดยไม่ได้รับบําเหน็จ บํานาญ แต่หากผู้ถูกกล่าวหาต้องคำพิพากษาให้จำคุกก็จะต้องไล่ออกสถานเดียว ดังนั้น การลงโทษเพียงแค่ตัดเงินเดือนตามประเด็นข่าวจึงไม่ใช่เป็นข้อเท็จจริง
อย่างไรก็ตามกระทรวงยุติธรรมก็จำเป็นต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกร้องด้วยเช่นกันและขอยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการภายใต้กรอบเวลาของกฎหมาย .-สำนักข่าวไทย