ฝรั่งเศส 6 ต.ค. – นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ พร้อมด้วยคณะเดินทางมาชักจูงการลงทุนที่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อหวังดึงบริษัทชั้นนำเข้ามาลงทุนในประเทศไทยและร่วมยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย เพื่อผลักดันไปสู่นโยบายเอสเอ็มอี 4.0 โดยนายสมคิดได้หารือกับสภานายจ้างฝรั่งเศส ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสมีสมาชิกกว่า 750,000 บริษัท และกว่าร้อยละ 90 เป็นบริษัทเอสเอ็มอี จึงมีผู้บริหารระดับสูงมาหารือกับรัฐบาลครั้งนี้จำนวนมาก โดยสภานายจ้างฝรั่งเศสมีนโยบายสนับสนุนสมาชิกไปลงทุนในภูมิภาคต่าง ๆ และต้องการเข้ามาขยายการลงทุนในประะเทศไทย
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หาข้อสรุปร่วมกัน เพื่อนำแนวทางการลงทุนเสนอต่อนายกรัฐมนตรีระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคมนี้ เพื่อสำรวจช่องทางการลงทุนในประเทศไทย ทั้งการลงทุนด้านอุตหสากรรมแห่งอนาคตในกลุ่มเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ ไอที สุขภาพ และการคมนาคมขนส่ง การบิน เนื่องจากฝรั่งเศสมีศักยภาพมากและยังมีกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพราะทุกรายต่างมีแผนที่จะขยายการลงทุนในเอเชียและอาเซียน เพื่อเป็นฐานการผลิตป้อนสินค้าในตลาดเอเชีย แต่ทุกรายยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกประเทศที่จะเข้าไปลงทุน รัฐบาลจึงเล็งเห็นความสำคัญในการเร่งเจรจากับเอกชนของฝรั่งเศส
นอกจากนี้ กลุ่มมิชลินพร้อมขยายการลงทุนในประเทศไทยเพิ่ม เพื่อต้องการให้ร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมยางครบวงจร เพื่อพัฒนาศูนย์กลางยางพาราในอำเภอหาดใหญ่ผ่านความร่วมมือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์นพัฒนาศูนย์วิจัยร่วมกันในการแปรรูปยางพาราของไทยและร่วมมือพัฒนาท้องถิ่นในรูปแบบประชารัฐ เนื่องจากมิชลินผลิตอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ รถบรรทุก ล้อเครื่องบิน มีขนาดอุตสาหกรรมใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากบริสโตน รายได้ต่อปีประมาณ 822,521 ล้านบาท ซึ่งมิชลิน ระบุว่าต้องการขยายการลงทุนในประเทศไทย 500 ล้านยโรในอีก 5 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ ยังหารือผู้บริการแอร์บัส ซึ่งเป็นเอกชนรายใหญ่ในอุตสหากรรมการบินของโลก เพื่อต้องการชักชวนให้เข้ามาร่วมกับไทยพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน โดยร่วมเป็นพันธมิตรกับการบินไทย แต่ไม่ใช่มาแข่งขันกับการบินไทย แต่เป็นการแบ่งภารกิจในส่วนที่มีศักยภาพ ซึ่งต้องการให้แอร์บัสมาร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยี เนื่องจากรัฐบาลต้องการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์กลางการบิน จึงต้องการพันธมิตรต่างชาติที่เข้มแข็ง 2-3 รายมาร่วมพัฒนาในด้านการซ่อมบำรุง การถ่ายทอดเทคโนโลยี หลังจากช่วงที่ผ่านมาได้หารือกับผู้บริหารกล่อมบริษัท Rolls Royce เพื่อมาร่วมกันพัฒนาอุตสหากรรมการบินอู่ตะเภา
ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2556 – 2558) พบว่า โครงการลงทุนจากประเทศเยอรมนียื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 86 โครงการ เงินลงทุนรวม 16,490 ล้านบาท ส่วนโครงการลงทุนจากประเทศฝรั่งเศสยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 50 โครงการ เงินลงทุนรวม 1,390 ล้านบาท ส่วนในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค. – ก.ค.59) พบว่าโครงการลงทุนจากประเทศเยอรมนียื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 15 โครงการ เงินลงทุนรวม 1,400 ล้านบาท ส่วนโครงการลงทุนจากประเทศฝรั่งเศสยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 12 โครงการ เงินลงทุนรวม 64 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย