เชียงใหม่ 7 ก.พ. – ในเดือนแห่งความรักและใกล้เทศกาลวาเลนไทน์ ราคาดอกกุลหาบเริ่มขยับตัวขึ้น เป็นโอกาสทองของชาวสวนกุหลาบทั่วประเทศ รวมทั้งสวนกุหลาบบนดอยสูงที่เชียงใหม่แหล่งปลูกกุหลาบที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ แต่มีคำเตือนให้ระวังอันตรายแฝงของการใช้ฟอร์มาลีนในดอกไม้ หากสูดดมเข้าไปอาจมีอันตรายถึงชีวิต
สวนกุหลาบกว่า 300 ไร่ กลางหุบเขา ในหมู่บ้านบวกเต๋ย ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กลายเป็นเหมือนขุมทองของชาวบ้านที่นี่เกือบ 100 ครอบครัว หรือมากกว่าร้อยละ 80 ของหมู่บ้านนี้ ที่ยึดอาชีพปลูกกุหลาบมากว่า 20 ปี ปีหนึ่งๆ มีดอกกุหลาบจากหมู่บ้านนี้ออกสู่ตลาดเกือบ 70 ล้านดอก สร้างรายได้ให้ชาวบ้านนับร้อยล้านบาท โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ต้องเร่งตัดดอกกุหลาบส่งขายให้กับพ่อค้าแม่ค้าทั้งเชียงใหม่และในกรุงเทพฯ ช่วงก่อนวันแห่งความรักหรือเทศกาลวาเลนไทน์ ซึ่งราคากุหลาบเริ่มขยับสูงขึ้นจากปกติเป็นเท่าตัว
ลุงจา ชาวสวนกุหลาบ วัย 64 ปี ที่ยึดอาชีพปลูกกุหลาบมาค่อนชีวิต บอกว่า แม้ปีนี้กุหลาบจะออกดอกน้อย เพราะอากาศแปรปรวน แต่วาเลนไทน์ยังถือเป็นโอกาสทองของชาวสวน เพราะราคากุหลาบที่ขายได้สูงขึ้นจากปกติ ห่อละ 25 ดอกราคา 60 บาท เพิ่มเป็น 120 บาท และกุหลาบสีแดงเกรดเอ ดอกใหญ่ ก้านยาว กำละ 10 ดอก จาก 60 บาท ราคาจะขายได้สูงถึง 220 บาท ในช่วง 4 วันสุดท้ายก่อนวาเลนไทน์
เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ลงพื้นที่ตรวจสอบสารฟอร์มาลีน ที่บ้านบวกเต๋ย ปลูกกุหลาบส่งขายไปทั่วประเทศ เพื่อเฝ้าระวังสารอันตรายชนิดนี้ จากการตรวจสอบไม่พบฟอร์มาลีนในดอกกุหลาบบ้านบวกเต๋ย แต่เคยพบการใช้สารชนิดนี้รักษาความสดของมาลัยดอกมะลิมาแล้ว หากสูดดมฟอร์มาลีนเข้าไป จะทำให้เกิดอาการวิงเวียน ตาลาย หมดสติ และหากได้รับปริมาณมากอาจจะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ สคบ.จะออกสุ่มตรวจฟอร์มาลีนตกค้างในดอกกุหลาบช่วงวาเลนไทน์ ตามตลาดดอกไม้ใหญ่ๆ ทั่วประเทศ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และหากมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสารฟอร์มาลีนตกค้างในดอกไม้ สามารถแจ้ง สคบ.เพื่อช่วยเหลือในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งได้ด้วย. – สำนักข่าวไทย