กระทรวงแรงงาน 1 ก.พ. – รมว.แรงงานยันขึ้นค่าจ้าง 5-22 บาททั่วประเทศ 1 เม.ย.นี้ รับเตรียมศึกษาความเหมาะสมลดเงินสมทบประกันสังคมช่วยนายจ้าง
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยกับทีมข่าวสำนักข่าวไทยว่า เมื่อวันอังคาร 30 มกราคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 19 ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2561 ตั้งแต่ 5-22 บาท แบ่งเป็น 7 อัตรา คือ อัตรา 308 บาท มี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา
อัตรา 310 บาท มี 22 จังหวัด คือสิงห์บุรี ตรัง ลำปาง ลำพูน ตาก ราชบุรี ระนอง ชุมพร สตูล หนองบัวลำภู พิจิตร กำแพงเพชร สุโขทัย เชียงราย อุทัยธานี ศรีสะเกษ ชัยภูมิ อำนาจเจริญ แพร่ แม่ฮ่องสอน นครศรีธรรมราช มหาสารคาม
อัตรา 315 บาท มี 21 จังหวัดคือ ร้อยเอ็ด ประจวบคีรีขันธ์ นครสวรรค์ สระแก้ว พัทลุง อุตรดิตถ์ อุดรธานี นครพนม บุรีรัมย์ สุรินทร์ เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยนาท เลย ยะโสธร พะเยา บึงกาฬ น่าน กาญจนบุรี อ่างทอง
อัตรา 318 บาท มี 7 จังหวัด คือ จันทบุรี สมุทรสงคราม สกลนคร มุกดาหาร นครนายก กาฬสินธุ์ ปราจีนบุรี อัตรา 320 บาท มี 14 จังหวัด คืออุบลราชธานี สุพรรณบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา หนองคาย ลพบุรี ตราด ขอนแก่น สงขลา สุราษฎร์ธานี กระบี่ เชียงใหม่ นครราชสีมา พังงา
อัตรา 325 บาท มี 7 จังหวัด คือ กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา และอัตรา 330 บาท มี 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต ชลบุรี และระยอง
รมว.แรงงาน กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ อย่างการลดหย่อนภาษีร้อยละ 1.15 เท่าของค่าจ้างที่จ่าย เช่นเดียวกับมาตรการการลดเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง ที่กระทรวงแรงงานเสนอ ลดร้อยละ 1 เป็นเวลา 12 เดือน หรือชะลอการจ่าย 6 เดือน ที่ได้รับการอนุมัติแล้ว แม้ก่อนหน้านี้ รมว.จะยืนยันกับนายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ว่าจะไม่แตะต้องเงินสมทบประกันสังคมเด็ดขาดก็ตาม โดย รมว.แรงงาน กล่าวว่า จะมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม ศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด เพื่อดูความเหมาะสมในการลดเงินสมทบให้เร็วที่สุด เพื่อให้ทัน 1 เม.ย.นี้ .- สำนักข่าวไทย