นนทบุรี 29 ม.ค. – พาณิชย์ชวนเอกชนใช้สิทธิ์ หลังจีนลดภาษีให้ไทยภายใต้เอฟทีเอ เร่งขยายตลาดไปจีน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดี รักษาการอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการที่ความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อาเซียน – จีน มีผลใช้บังคับเมื่อปี 2548 เป็นต้นมา ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 ไทยและจีนต่างลดภาษีศุลกากรสินค้าล็อตสุดท้ายที่ยังไม่ได้ลดภาษีให้กันลงเหลือร้อยละ 0 – 5 โดยสินค้าสุดท้ายที่จีนลดภาษีให้ไทยเหลือร้อยละ 0 – 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 มีประมาณ 286 รายการ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ภาษีเดิมอยู่ที่ร้อยละ 15 -20 เช่น กาแฟ พริกไทย ข้าวหัก แป้งข้าวเจ้า ลำไย สับปะรดกระป๋อง น้ำสับปะรด น้ำมะพร้าว ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ ยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งมีสินค้าหลายรายการที่เป็นสินค้าศักยภาพของไทยที่ผู้ประกอบการสามารถใช้โอกาสนี้เร่งเพิ่มการส่งออกสินค้าไปจีน
นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้กรมฯ ได้จัดประชุมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องรวมถึงสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกของไทยได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว ซึ่งภาคเอกชนเห็นพ้องว่าการลดภาษีของจีนดังกล่าวจะช่วยสร้างแต้มต่อให้ผู้ประกอบการไทยในการแข่งขันในตลาดจีน ทั้งนี้ นับตั้งแต่เอฟทีเออาเซียน – จีน มีผลบังคับใช้เมื่อ 12 ปีที่ผ่านมาการส่งออกของไทยไปจีนมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 61 จาก 9,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2549 เป็น 23,580 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2560 โดยสินค้าที่ไทยใช้ประโยชน์จากการลดภาษีของจีน เช่น ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสถิติการค้าระหว่าง 2 ประเทศในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ยังมีสินค้าที่จีนลดภาษีเป็นศูนย์ให้ไทยตั้งแต่ปี 2553 แต่ยังส่งออกไปจีนไม่มาก เช่น ปลาและกุ้งแช่แข็ง เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ผัก/ผลไม้แปรรูป ซอสปรุงรส เป็นต้น จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการไทยเร่งใช้ประโยชน์จากการที่จีนลดภาษีให้ไทยมากขึ้น
สำหรับสินค้าล็อตสุดท้ายที่ไทยลดภาษีศุลกากรให้จีนเหลือร้อยละ 0-5 ตามที่ระบุในความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน เช่น แป้งข้าวสาลี มะเขือเทศบด หินอ่อน/หินแกรนิต ซีเมนต์ สีย้อม/สีทามอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งมีทั้งวัตถุดิบที่การลดภาษีจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตให้กับผู้ประกอบการไทยได้ เช่น กระเปาะแก้วสำหรับหลอดไฟ เครื่องเพชรพลอยรูปพรรณของเทียมสำหรับทำเครื่องประดับ รวมทั้งที่เป็นสินค้าสำเร็จรูป เช่น ยางรถยนต์ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย