รัฐสภา 22 ม.ค.-กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.ระบุขยายเวลาบังคับใช้ 90 วันให้สอดคล้องกับคำสั่งคสช. 53/2560 ส่วนเลื่อนเลือกตั้งกระทบความน่าเชื่อถือของประเทศหรือไม่ ให้ไปถามนายกฯ
นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสภาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กล่าวถึงการขยายเวลาบังคับใช้พ.ร.ป.ฉบับดังกล่าว ภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 90 วันว่า เพื่อให้สอดคล้องกับจังหวะเวลาเดียวกันกับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 53/2560 ที่กำหนดระยะเวลาให้พรรคการเมืองทำธุรกรรมทางการเมืองได้ในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน 2561
“การขยายเวลาจะช่วยให้พรรคการเมืองเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ขอไม่ตอบคำถามว่าการขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายจะกระทบต่อโรดแมปการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะเกินอำนาจหน้าที่ของสนช. แม้จะหารือเรื่องนี้ในที่ประชุมกรรมาธิการฯ แต่ยืนยันได้ว่ากรรมาธิการฯ พิจารณาร่างกฎหมายโดยไม่มีใบสั่งจากคสช.และไม่ได้คิดแทนฝ่ายการเมือง” นายทวีศักดิ์ กล่าว
นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ากรรมาธิการฯมีมติดังกล่าวเพื่อแลกกับตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ในอนาคต นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่วิจารณ์ได้ แต่ส่วนตัวตอบไม่ได้ ส่วนเรื่องนี้จะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของนายกรัฐมนตรีและประเทศไทยหรือไม่ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีประกาศต่อนานาชาติแล้วว่าจะมีเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 ต้องให้คสช.เป็นผู้ตอบคำถาม เพราะคำสั่งคสช.ทำให้กรรมาธิการต้องขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมาย
นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า กรรมาธิการ ฯ ปรับแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวทั้งหมด 30 มาตรา อาทิ มาตรา 35 กรรมาธิการฯ เพิ่มเติมเนื้อหาให้จำกัดสิทธิการสมัครเข้ารับราชการเป็นเวลา 2 ปีแก่ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คือบุคคลใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะถูกจำกัดสิทธิการไปสมัครรับราชการเป็นเวลา 2 ปี อาทิ ข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภา ยกเว้นมีเหตุความจำเป็น หรือหากในเขตของตนเองจัดการเลือกตั้งซ่อมหรือเลือกตั้งท้องถิ่น สามารถไปเลือกได้ สิทธิ์ก็จะกลับมา นอกจากนี้ ยังแก้ไขให้การหาเสียงผ่านทางสื่ออิเลคทรอนิกส์ต้องยุติก่อน 18.00 น.ของวันก่อนวันเลือกตั้ง จากเดิมที่กรธ.กำหนดต้องยุติก่อนถึงวันเลือกตั้ง 3 วัน
“ส่วนมาตรา 75 กรรมาธิการฯแก้ไขให้สามารถจัดแสดงมหรสพ งานรื่นเริง ประกอบการหาเสียงของพรรคการเมืองได้ เพื่อเป็นกลยุทธจูงใจให้ประชาชนมารับฟังการหาเสียงมากขึ้น ส่งเสริมให้คนตื่นตัวทางประชาธิปไตย หากเปิดเวทีหาเสียงอย่างเดียว โดยไม่จูงใจเรื่องมหรสพจะมีประชาชนมาฟังนโยบายหาเสียงน้อย นอกจากนี้ กรรมาธิการฯได้กำหนดให้แต่ละพรรคใช้งบประมาณหาเสียงเท่ากันทุกพรรค และทุกเขตต้องมีเพดานการใช้เงินหาเสียง ซึ่งกกต.จะเป็นผู้ออกระเบียบกำหนดเพดานการใช้เงินหาเสียงที่ทุกพรรคต้องใช้เงินเท่ากันในทุกเขต รวมทั้งขยายเวลาใช้สิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนเป็นตั้งแต่เวลา 7.00 – 17.00 น. ขณะที่การลงคะแนนเลือกตั้ง หากเป็นผู้พิการสามารถให้เจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่ผู้พิการยินยอมกาบัตรเลือกตั้งแทนได้ ทั้งนี้ กรรมาธิการ จะตรวจสอบถ้อยคำให้แล้วเสร็จ เพื่อเสนอต่อวิปสนช.ให้บรรจุเข้าสู่วาระการประชุม สนช.ในวันที่ 25 มกราคมนี้” นายทวีศักดิ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย
