กรุงเทพฯ 12 ม.ค.- เหยื่อแก็งคอลเซ็นเตอร์เฮ ธนาคารและ ปปง.คืนเงินที่ยับยั้งจากการถูกแก็งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง ซึ่งวันนี้มีเหยื่อเข้ารับเงิน 3 ราย เงินกว่า 1 ล้านบาท จากสถิติมีเหยื่อถูกหลอกและโอนเงินในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมาถึง 157 ราย เสียหายกว่า 4 ล้านบาท
พลตำรวจเอกธนิตศักดิ์ ธีระสวัสดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจโทสาคร ทองมุณี ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รับมอบเงินจากนายพีระพัฒน์ อิงพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการกองคดี 1 ผู้แทนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ร่วมกับผู้แทนธนาคารต่างๆ ที่สามารถยับยั้งการถอนจากมิจฉาชีพได้ รอบที่ 2 จำนวน 316,010 บาท เพื่อบรรเทาความเสียหายให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ ปปง. มีการส่งมอบเงินของผู้เสียหายบางส่วนที่สามารถยับยั้งการถอนได้จำนวน 3 ราย เป็นเงิน 1,494,329 บาท
ทั้งนี้มีผู้แจ้งผ่านสายด่วน ปปง. 1710 ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 ถึง 11 มกราคม 2561 มีผู้เสียหายหลงเชื่อและโอนเงินจำนวน 157 ราย เหตุเกิดและรีบแจ้ง 56 ราย เหตุเกิดแล้วแจ้งภายหลัง 101 ราย รวมมูลค่าความเสียหาย 67,180,092.77 บาท สามารถยับยั้งและช่วยเหลือได้ 18 ราย มูลค่า 4,218,832.65 บาท
จากข้อมูลศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฉ้อโกงประชาชนผ่านระบบโทรศัพท์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ปปง. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จำนวน 167 ราย สามารถออกหมายจับผู้ต้องหาได้ 275 ราย จับกุมได้แล้ว 162 ราย อยู่ระหว่างสืบสวนติดตาม 113 ราย ซึ่งจากการวิเคราะห์แผนประทุษกรรมของกลุ่มผู้ต้องหา พบว่า การใช้โทรศัพท์หลอกลวงผู้เสียหายมีการโทรศัพท์ผ่านระบบการสื่อสาร VOIP จากต่างประเทศ และมีการแปลงเลขหมายที่ปรากฎเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานรัฐเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ อาทิ หมายเลขโทรศัพท์ของสถานีตำรวจ ที่ทำการไปรษณีย์ ศาลที่มีเลขหมายซ้ำกัน จำนวน 50 หมายเลข ทำให้ประชาชนหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อสูญเสียทรัพย์สินเป็นเงินจำนวนมาก ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงขอความร่วมมือจาก กสทช. และผู้ให้บริการโทรศัพท์ในประเทศ กำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยจะปิดกั้นสัญญาณโทรศัพท์จากหมายเลขที่คนร้ายใช้โทรจากต่างประเทศมาหลอกลวงผู้เสียหาย
ซึ่งในวันนี้มีผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เดินทางมารับมอบเงินคืนจำนวน 11 ราย จำนวน 1,641,265.47 บาท โดยผลการปฏิบัติงานในการอายัติเงินของผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงสามารถอายัติเงินคืนให้ผู้เสียหายได้จำนวน 21 ราย รวมเป็นเงิน 5,518,894.47 บาท.-สำนักข่าวไทย