กรุงเทพฯ 9 ม.ค. – กรมธนารักษ์เปิดประมูลสรรหาผู้ลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จังหวัดตาก นครพนม และกาญจนบุรี รวม 5,397 ไร่
นายปรีชา มงคลหัตถี ที่ปรึกษาการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กรมธนารักษ์ แถลงข่าวเปิดประมูลสรรหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน รวม 5,397 ไร่ ใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย ตาก 1,055 ไร่ นครพนม 1,363 ไร่ และกาญจนบุรี 2,979 ไร่ โดยกรมธนารักษ์จะเปิดให้เอกชนที่สนใจซื้อซองประมูลวันที่ 15 มกราคม – 9 กุมภาพันธ์ 2561 โดยเอกชนมีเวลาพิจารณาเงื่อนไขการประมูล 90 วัน เมื่อสนใจสามารถยื่นซองประมูลวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 จากนั้นกรมธนารักษ์จะใช้เวลาพิจารณาภายใน 30 วัน โดยคาดว่าทั้ง 3 แปลงนี้จะสร้างรายได้ให้กับกรมธนารักษประมาณ 6,000 ล้านบาท์ในช่วง 50 ปีนับจากเอกชนได้สิทธิ์เช่า แบ่งเป็นค่าเช่าจังหวัดตากประมาณ 4,000 ล้านบาท กาญจนบุรีประมาณ 300-400 ล้านบาท และนครพนมค่าเช่าประมาณ 1,200 ล้านบาท
สำหรับเอกชนที่เข้าร่วมลงทุนจะต้องมีคุณสมบัติตามที่กรมธนารักษ์กำหนด เช่น เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท กรณีกิจการร่วมค้า ต้องมีมูลค่าทุนจดทะเบียนรวมกันไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท มีผลงานที่ประสบความสำเร็จย้อนหลัง 3 ปีนับจากวันยื่นซองเสนอการลงทุน ส่วนหลักเกณฑ์การคัดเลือก ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ แผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน รูปแบบจำลองเชิงธุรกิจ ระยะเวลาดำเนินการและศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงการเงิน และส่วนที่ 3 คือ เสนอผลประโยชน์ตอบแทนการเช่า
ทั้งนี้ กรมธนารักษ์ให้สิทธิประโยชน์ตามมาตรการเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยยกเว้นค่าเช่าที่ดินราชพัสดุเป็นเวลา 2 ปี กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดสิทธิประโยชน์ปี 2563 ภายใต้เงื่อนไขว่าหากมีการลงทุนจริงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของเงินลงทุน ทั้งนี้ ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนปีที่ 1 และ 2 ของรอบปีที่ทำสัญญาเช่า นับตั้งแต่วันที่จัดทำสัญญาเช่า โดยผู้ได้รับสิทธิ์พัฒนาจะต้องมาทำสัญญาเช่าภายในระยะเวลาที่ทางราชการกำหนด นอกจากนี้ ยังมีสิทธิประโยชน์เพื่อขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ดังกล่าว ส่วนกรณีไม่ขอรับสิทธิประโยชน์จากบีโอไอสามารถขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการของกรมสรรพากรได้
ก่อนหน้านี้กรมธนารักษ์เปิดประมูลพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่จังหวัดสระแก้วและตราด ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเข้าร่วมประมูล ส่วนหนองคายและมุกดาหารมีการเปิดประมูลเช่นกัน แต่ไม่มีนักลงทุนให้ความสนใจเข้าร่วมประมูล ดังนั้น กรมธนารักษ์จะมีการปรับปรุงเงื่อนไขใหม่ให้จูงใจนักลงทุนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้กรมธนารักษ์จึงมีพื้นที่ 36 แปลง เป็นแปลงขนาดเล็กใน 21 จังหวัด แต่ละที่มีขนาด 2 ไร่ขึ้นไป โดยกรมธนารักษ์จะเปิดประมูลให้เอกชนที่สนใจพัฒนาต่อไป.-สำนักข่าวไทย