หอการค้าไทย 9 ม.ค. – กกร.หนุนปรับขึ้นค่าแรงไม่เท่ากันทุกจังหวัด หวั่นกระทบเอสเอ็มอีและภาคเกษตร แนะนำเทคโนโลยีปรับใช้การทำธุรกิจ
นายกลินท์ สารสิน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่มีกระแสข่าวปรับขึ้นค่าแรง 2-15 บาทเท่ากันทั่วประเทศนั้น กกร.เห็นด้วยกับการปรับเพิ่มค่าแรงงานประจำปี แต่ไม่ควรกำหนดเท่ากันทั่วประเทศ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและความจำเป็นแต่ละจังหวัดแตกต่างกัน ดังนั้น ควรมอบอำนาจให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ประกอบด้วย ผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง ผู้ว่าราชการจังหวัด แรงงานจังหวัด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด และสำนักงานสถิติจังหวัด ร่วมกันพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างประจำปีตามสภาพข้อเท็จจริงและความจำเป็นแต่ละจังหวัด เช่น สภาพเศรษฐกิจ สังคม รายได้ประชาชาติต่อคน สภาพการจ้างงาน ขนาดธุรกิจหรืออุตสาหกรรม ซึ่งแต่ละจังหวัดแตกต่างกันมาก
ทั้งนี้ มองว่าการปรับค่าแรงประจำปีต้องคำนึงถึงผลกระทบรอบด้านทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและภาคเกษตร โดยปี 2560 ผู้มีงานทำ 37.72 ล้านคน ภาคเกษตร 12.05 ล้านคน ภาคการผลิต 14.79 ล้านคน ภาคการบริการและการค้า 10.88 ล้านคน นอกจากนี้ ยังเป็นเอสเอ็มอี 3 ล้านราย คาดว่าเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น จึงอยากให้เกิดผลกระทบต่อเอสเอ็มอีและภาคเกษตรน้อยที่สุด
นายกลินท์ กล่าวว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวดี ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง หากปรับขึ้นค่าแรงสูงเกินไปอาจกระทบภาวะเศรษฐกิจและความน่าสนใจเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งภาครัฐควรผลักดันให้แรงงานไทยมีทักษะฝีมือสูงขึ้นและสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ไม่ขอระบุตัวเลขการขึ้นค่าแรงที่เหมาะสม และไม่อยากเห็นการเข้าไปแทรกแซงการปรับขึ้นค่าแรงใหม่ โดยเคารพการตัดสินใจของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ที่ผ่านมาเตรียมการรองรับการปรับขึ้นค่าจ้างภาคอุตสาหกรรมตลอด สำหรับปัญหาขณะนี้ของภาคอุตสาหกรรม คือ ขาดแคลนแรงงานและบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งได้แนะนำผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคธุรกิจมากขึ้น เช่น อี-คอมเมิร์ซ .-สำนักข่าวไทย