กทม.8 ม.ค.-ผู้ว่าฯกทม.ประกาศ พับโครงการสะพานคนเดินข้าม บริเวณท่าพระจันทร์- ศิริราช
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้พับโครงการสะพานคนเดินข้ามบริเวณท่าพระจันทร์- ศิริราช เนื่องจากมีเหตุผลหลายอย่าง ทั้งใช้งบประมาณสูงและไม่คุ้มค่า บดบังทัศนียภาพ แต่หากผู้ว่าฯกทม. คนใหม่จะรื้อโครงการมาเดินหน้าต่อสามารถทำได้ แต่ตนไม่เอา
ด้านนายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัด กทม.กล่าวว่า โครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่บรรจุอยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานคร พื้นที่ที่ 2 ช่วงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าถึงสะพานพระราม 3 แผนงานที่ 12 งานพัฒนาสะพานคนเดิน (Pedestrain Bridge) เพื่อเป็นสะพานคนเดิน ทางจักรยานและทางผู้พิการ ซึ่ง กทม.ได้ดำเนิน การสำรวจและออกแบบ โดยคำนึงถึงวิถีวัฒนธรรมไทย ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แหล่งประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณคดีที่สำคัญ และทัศนียภาพโดยรอบ มีความเชื่อมโยงกับสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทางเลือกในการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะดวก ปลอดภัย ส่งเสริมการท่องเที่ยวและภาพลักษณ์ของกรุงเทพฯ เป็นทางเลือกในการสัญจรสอดคล้องกับแผนการแก้ไขปัญหาการจราจรในบริเวณโดยรอบ รพ.ศิริราช และเพิ่มช่องทางการรับส่งผู้ป่วยเข้าสู่ รพ.ศิริราชได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น
อีกทั้งโครงการดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับโครงข่ายการสัญจรทางบกและโครงข่ายรถไฟฟ้าพื้นที่โดยรอบด้วย ดังนี้
1.โครงการต่อเชื่อมสะพานพระราม 8 กับถนนพรานนก – ถนนพุทธมณฑลสาย 4
2. งานขยายถนนอรุณอัมรินทร์ พร้อมทางขึ้น – ลง และทางยกระดับข้ามแยกศิริราช
3. งานขยายผิวจราจร สร้างทางกลับรถ ใต้สะพานอรุณอัมรินทร์
4. งานปรับปรุงโครงข่ายถนนบริเวรถนนริมคลองบางกอกน้อย
5. งาน Sky Walk และทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา
6. โครงการสะพานข้ามทางแยกทางรถไฟ
7. งานสร้างทางกลับรถใต้สะพานข้ามคลองบางกอกน้อย
8. งานขยายสะพานข้ามคลองบางกอกน้อย
9. โครงการสะพานข้ามทางแยกเลี้ยวขวา จากถนนจรัญสนิทวงศ์ เข้าถนนบางขุนนนท์
10. โครงการถนนพรานนก – พุทธมณฑลสาย 4
11. โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน
12. โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม
13.เส้นทางการเดินเรือของเรือด่วนเจ้าพระยา
14.เส้นทางจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์
นอกจากนี้กทม.ยังได้ศึกษาและประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของปริมาณนักท่องเที่ยวเพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุน ได้แก่ ผลประโยชน์จากการลดเวลาการเดินทาง ซึ่งสามารถลดระยะเวลาในการเดินทางต่อคน – เที่ยวที่ 8.5 นาที คิดเป็นค่าใช้จ่าย 6.375 บาท/คน-เที่ยว ผลประโยชน์ด้านการจ้างงาน (Employment) เนื่องจากมีการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง มูลค่าทวีคูณงานก่อสร้าง (Construction Multiplier) ผลประโยชน์จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว (Tourist Spending) ส่งเสริมเส้นทางคนเดินและทางจักรยานท่องเที่ยว ซึ่งสามารถสรุปผลการวิเคราะห์ความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจของโครงการ ดังนี้ 1. มูลค่าปัจจุบันสุทธิของโครงการ (NPV@ 12%) หรือเท่ากับ 373.94 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้มีการวิเคราะห์ถึงผลตอบแทนหรือความคุ้มทุนต่อโครงการ (NPV) ทั้งในส่วนเงินลงทุน และผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับในอนาคต ปรากฏว่า NPV เป็นบวกที่อัตรา 12 % ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ถือโครงการนี้จะให้ผลตอบแทนมากกว่าเงินลงทุน 2.อัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) เท่ากับ ร้อยละ 17.26 : หาก EIRR เกินกว่าค่ามาตรฐาน ร้อยละ 9 ต่อปี ถือว่าเป็นโครงการที่ควรพิจารณาให้เกิดขึ้น 3.อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C) เท่ากับ 1.31: ตามหลักการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ หาก B/C > 1 ถือว่าคุ้มค่าการลงทุน, B/C = 1 เท่าทุน และ B/C < 1 ไม่คุ้มทุน ขาดทุน
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 14 ก.ค.60 มีการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นการทบทวนรูปแบบโครงการจ้างที่ปรึกษาศึกษาสำรวจและออกแบบสะพานคนเดินและทางจักรยานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าพระจันทร์-ศิริราช ซึ่งการก่อสร้างสะพานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสะพานคนเดิน ทางจักรยาน ทางผู้พิการ และสวนสาธารณะ โดยเน้นวิถีวัฒนธรรมไทย ส่งเสริมการท่องเที่ยว
เสริมภาพลักษณ์ เพิ่มทางเลือกของการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสะดวก ปลอดภัย พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และส่งเสริมเครือข่ายทางคนเดินและเส้นทางจักรยาน สำหรับแบบล่าสุดของสะพาน มี 2 ชั้น ความสูงระหว่างระหว่างชั้น 4 เมตร มีลิฟต์ บันไดเลื่อน และรถกอล์ฟให้บริการผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องการเดินทางเข้าสู่ รพ.ศิริราช ใช้งบประมาณ 1,710 ล้านบาท .-สำนักข่าวไทย
