กรุงเทพฯ 6 ม.ค.61- กรณีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 2-15 บาททั่วประเทศ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย หวั่นกระทบผู้ค้ารายย่อยกว่าล้านราย เสี่ยงฉุดการเติบโตจีดีพีของไทย แนะภาครัฐต้องเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน
นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย เปิดเผยกรณีที่รัฐบาลเตรียมปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 2-15 บาท ว่า อาจกระทบผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SME กว่าล้านรายทั่วประเทศ ปัจจุบันนายจ้างจ่ายค่าแรงลูกจ้างเกินอัตราขั้นต่ำอยู่แล้ว เช่น ในพื้นที่กรุงเทพฯ เฉลี่ยจ่ายอยู่วันละ 350 บาทต่อคน จากเดิมขั้นต่ำ 310 บาท ดังนั้น การปรับค่าแรงรอบนี้ จะยิ่งผลักภาระเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ค้ารายย่อย ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง ฉุดรั้งการเติบโตจีดีพีของไทยในปีนี้ ดังนั้น ภาครัฐควรใช้มาตรการเพิ่มทักษะพัฒนาฝีมือให้ผู้ใช้แรงงาน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ตัวเอง และมีนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ลดหย่อนภาษี ไม่ใช่มีแต่การสนับสนุนให้เป็นหนี้ โดยการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ จะยิ่งส่งผลให้กิจการขนาดเล็กต้องปิดตัวลง
นายอรรถยุทธ ลียะวณิช ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภค กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ย่อมส่งผลกระทบต่อนายจ้าง ซึ่งวันที่ 10 มกราคมนี้ คณะกรรมการพิจารณาค่าจ้าง 3 ฝ่าย จะพิจารณาตัวเลขค่าจ้างของแต่ละจังหวัด ซึ่งนำมาจากผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการจังหวัดทั่วประเทศ โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพของแต่ละจังหวัดภาวะเงินเฟ้อและทิศทางตลาดโลก มาพิจารณากำหนดเป็นค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดอย่างเป็นทางการ
ด้านนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีค่าครองชีพแตกต่างกัน และปัญหาของไทยคือ ผู้ที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำไม่ใช่คนไทย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ แต่ไม่ได้หมายความว่า ส.อ.ท.ต้องการกดค่าแรงแรงงานต่างด้าว ยืนยัน แรงงานต่างชาติยังมีความจำเป็น สำหรับภาพรวมตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรมของไทย ปัจจุบันยังขาดแรงงานที่มีทักษะ.-สำนักข่าวไทย