ธ.ก.ส.สำนักงานใหญ่ 5 ม.ค.- รองนายกฯสมคิด ชี้ปีจอ เป็นปีแห่งการปฏิรูปภาคเกษตรครั้งใหญ่ เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาแพ็กเกจเฟส 2 ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ มอบนโยบายให้กับผู้บริหาร ธ.ก.ส. เนื่องจากรัฐบาลต้องการปฏิรูปภาคเกษตรครั้งใหญ่ในปี 2561 พร้อมจัดเตรียมงบประมาณพิเศษเข้ามาช่วยเหลือในการปฏิรูปภาคเกษตร เพื่อต้องการพลิกภาคเกษตรก้าวไปสู่การใช้ระบบตลาดเป็นตัวนำ ผ่านการดูแลของกระทรวงเกษตรฯ ส่งเสริมการเพาะปลูกพืชคุณภาพด้วยเทคโนโลยี ส่วนกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้หาตลาดสินค้า นำสินค้าส่วนขายผ่านออนไลน์ มองว่าในช่วง 3-4 ปี ข้างหน้าภาคเกษตรจะค่อยๆพัฒนาดีขึ้น แต่ต้องเห็นการเปลี่ยนแปลงภายใน 1 ปีข้างหน้า
โดยการเปลี่ยนแปลงต้องทำให้เกษตรกรไม่มีความเสี่ยงจากการเพาะปลูกแบบเดิม ยอมรับว่ารัฐบาลใช้เงินช่วยเหลือเกษตรกรถึง 1.3 แสนล้านบาทต่อปี ทั้งอุดหนุน การรับจำนำ ได้สร้างภาระกับทุกรัฐบาลจำนวนมาก จึงต้องการปฏิรูปภาคเกษตรให้ยั่งยืน สำหรับการช่วยเหลือในระยะสั้นมองว่าจะผลักดันราคาข้าว ยางพาราให้ปรับสูงขึ้น เพราะเกษตรกรทั้งสองกลุ่มรวมกันถึง 30 ล้านคน หากกลุ่มดังกล่าวดีขึ้น คนระดับกลางจะขยับขึ้นตามไปด้วย ขณะนี้พอใจราคาข้าวหอมมะลิ ต้องช่วยเหลือข้าวขาว และยางพาราผ่านหลายมาตรการ
“เมื่อเกษตรกรผลิตสินค้าคุณภาพ ผ่านการพัฒนาออกแบบทันสมัย สามารถนำสินค้าชุมชนวางขายในแหล่งท่องเที่ยวชุมชน อาจต้องใช้เวลาเห็นผลชัดเจนทั้งระยะกลาง ระยะยาว พล.อ.เปรม ติณณสูลานนท์ ได้ย้ำกับนายกรัฐมตรีว่า รัฐบาล อย่ากังวล เมื่อทำได้ดีที่สุดแล้วทุกอย่างจะตามมาเอง เพราะรัฐบาลได้ช่วยเหลือในทุกด้าน จากนี้ไปต้องช่วยเหลือให้ถูกใจ ถูกจุดความต้องการของรายย่อย” นายสมคิด กล่าว
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือผู้ลงทะเบียนเฟส 2 เพื่อเสนอ ครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้า ในด้านการช่วยเหลือภาคเกษตร พบว่า ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ลงทะเบียนผ่าน ธ.ก.ส. 3.9 ล้านคน แบ่งเป็นเกษตรกร 3 ล้านคน จึงได้เสนอ 3 มาตรการ 9 โครงการ อาศัยหัวขบวนที่ประสบความสำเร็จ 2,400 ราย และสหกรณ์ในชุมชน หวังดึงให้ผู้ลงทะเบียนมาเป็นเครือข่ายร่วมกับหัวขบวนชุมชน มุ่งลดต้นทุนการผลิตเพื่อแข่งกับสินค้าเกษตรประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับผู้ไม่มีอาชีพ ต้องนำมาฝึกอบรมอาชีพผ่านแนวทางหลายด้าน เมื่อให้การช่วยเหลือแล้ว ต้องการให้ ธ.ก.ส.ช่วยเหลือให้ได้ผล โดยวัดผลชัดเจนส้ินปี ต้องมีรายได้พ้นจากเส้น 3 หมื่นบาทต่อปี ตามเส้นความยากจน
สำหรับการปฏิรูปภาคเกษตร กระทรวงคลังพร้อมจัดสรรงบประมาณพิเศษเข้ามาช่วยเหลือ รองรับการปฏิรูปภาคเกษตร เพื่อปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นไม่ใช่รอรับการช่วยเหลือเหมือนเดิมทุกปี เลิกพฤติกรรมปลูกอะไรไม่ได้ผลให้ยกเลิกการปลูก เพื่อไม่ให้เกิดการเรียกร้องช่วยเหลือทุกปี เมื่อการปฏิรูปเร่ิมเห็นผลรัฐบาลไม่ต้องเข้าไปช่วยเหลือทุกปี โดยใช้การตลาดเป็นตัวนำ ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้จัดหาตลาดให้เกษตรกร ขณะที่กระทรวงเกษตรส่งเสริมการเพาะปลูกพืชศักยภาพ ตามพื้นที่เหมาะสมผ่านแผนที่ทางการเกษตร
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. รายงานที่ประชุม ว่า เป้าหมายการดูแลรายย่อยของ ธ.ก.ส. คือการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคเกษตร และปัญหาหนี้นอกระบบ เพราะขณะนี้เอสเอ็มอีภาคเกษตรจากปัจจุบัน 55,000 ล้านบาท คาดว่าปล่อยสินเชื่อได้เต็มวงเงิน 72,000 ล้านบาทในเดือนมีนาคม 61 เพราะได้เตรียมส่งหัวขบวนจากสกรณ์เข้าไปสนับสนุนรายย่อยทำการผลิต สำหรับการลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐผ่าน ธ.ก.ส. 3.9 ล้านราย ในกลุ่มรายได้ 3 หมื่นบาทต่อปีมีสัดส่วนร้อยละ 67 ประมาณ 2.6 ล้านราย มีผู้สูงอายุ 60 ปี 1 ล้านราย ได้กำหนดแนวทางการช่วยเหลือจึงแบ่งเกษตรกรออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่ม A เป็นกลุ่มลูกค้าพร้อมเปลี่ยนแปลง กลุ่ม B กู้เพิ่มไม่ไหว ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง กลุ่ม C ต้องการใช้ชีวิตแบบพอเพียงไม่อยากเปลี่ยนแปลง ประมาณ 9 แสนราย ผ่านการช่วยเหลือด้วยสินเชื่อผ่อนปรน 95,000 ล้านบาทในช่วง 3 ปี
นายกฤษดา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาแก้ปัญหายางพาราตกต่ำ เนื่องจากมีพื้นที่ปลูกถึง 22 ล้านไร่ จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า หากตัดต้นยางทันที 1.5 ล้านไร่ ราคายางจะขยับเพิ่มขึ้นจาก 46-47 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มเป็น 80-100 บาทต่อกิโลกรัม ผ่าน 3 แนวทาง คือ 1.การตัดเตียนทั้งพื้นที่ เพื่อเปลี่ยนไปปลูกอย่างอื่น 2. การตัดเตียนแบบต้นเว้นต้น 3. แบ่งสัดส่วน การตัด 10 ไร่ เหลือไว้ 3 ไร่ ทั้งสามแนวทางมีการช่วยเหลือต่างกัน ในส่วนปลูกยางในพื้นที่ราชพัสดุอาจต้องเสนอให้ตัดทั้งหมด รวมทั้งต้องพิจารณาว่า หากสต็อกยางพาราเหมาะสมแล้ว ราคายางไม่ขยับขึ้นต้องดึงมาเป็นสินค้าควบคุม คาดว่าเสนอรัฐบาลพิจารณาได้ในเร็วๆนี้.-สำนักข่าวไทย