ก.คลัง 27 ธ.ค. – รัฐประเดิม PPP EEC Track กับ 5 โครงการหลัก มูลค่า 600,000 ล้านบาท คาด 8-10 เดือน ลงนามสัญญาเอกชนได้
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ( สคร.) เปิดเผยว่า รัฐบาลผลักดันโครงการในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้เกิดขึ้นในปี 2561 โดยเม็ดเงินลงทุนจริงจะเกิดขึ้นปี 2562 จึงได้กำหนดระเบียบการร่วมลงทุนกับเอกชน หรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560 ( ระเบียบ PPP EEC Track ) เพื่อช่วยลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อนและทำให้การคัดเลือกเอกชนและการลงนามในสัญญาดำเนินการเร็วขึ้น ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 8-10 เดือน ซึ่งเร็วกว่าขั้นตอนตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ที่ใช้เวลา 40 เดือน และหากเปรียบเทียบกับขั้นตอน Fast Track ที่ใช้เวลาประมาณ 20 เดือน และยังเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐในการกู้เงิน หรือการนำงบประมาณของภาครัฐมาลงทุนได้อย่างมาก ซึ่งหากทั้ง 5 โครงการสำเร็จจะลดต้นทุนโลจิสติกส์ลงร้อยละ 1-2 ของจีดีพี จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 14
“ระเบียบ PPP EEC Track จะเน้นความโปร่งเรื่องการเปิดเผยข้อมูลตั้งแต่เริ่มโครงการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชน จากนั้นจะส่งสัญญาทั้งหมดให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ และระหว่างการพิจารณาจะให้เอกชนร่วมจัดทำข้อตกลงคุณธรรม” นายเอกนิติ กล่าว
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า 5 โครงการสำคัญในพื้นที่ EEC ที่รัฐบาลเร่งผลักดันจะใช้ระเบียบ PPP EEC Track รวมวงเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 600,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กำหนดร่างขอบเขตงาน ( TOR ) ในเดือนพฤษภาคม 2561 โครงการที่ 2 ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา กำหนด TOR เดือนกุมภาพันธ์ 2561 โครงการที่ 3 รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเปิด TOR เดือนกุมภาพันธ์ 2561 โครงการที่4 ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เปิด TOR เดือนมิถุนายน 2561 และ โครงการที่ 5 ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เปิดTOR ภายในเดือนมิ.ย. 2561 ซึ่งทั้ง 5 โครงการไม่ใช้เงินงบประมาณจากภาครัฐ เนื่องจากงบประมาณมีจำกัด แต่เป็นการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนโดยทุกโครงการใช้วิธีการประมูลไม่มีวิธีพิเศษ
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระเบียบ PPP EEC Track มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน โดยจะมีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญของสัญญาร่วมทุน วิธีการคัดเลือกเอกชน ภายใน 30 วัน หลังการลงนามและผลการดำเนินโครงการในส่วนที่ไม่เป็นความลับทางการค้าของเอกชนอย่างน้อย 6 เดือนต่อ 1 ครั้ง โดยขณะนี้นักลงทุนต่างชาติ ทั้งญี่ปุ่น จีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา สนใจที่เข้ามาลงทุนใน EEC โดยนักลงทุนญี่ปุ่นขอส่งเสริมการลงทุนแล้วประมาณ 100,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ สำหรับโครงการ EEC รัฐบาลได้จัดเตรียมสิทธิประโยชน์และมาตรการต่าง ๆ เพื่อดึงดูดเอกชนที่มีศักยภาพมาร่วมพัฒนาโครงการ อาทิ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี เป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 100 ของเงินลงทุน การยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร การยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็น สำหรับส่วนที่ผลิตเพื่อการส่งออก 1 ปี สิทธิประโยชน์ในการนำคนต่างด้าวเข้ามาเพื่อการศึกษาลู่ทางการลงทุน หรือนำช่างฝีมือและผู้ชำนาญการเข้ามาทำงาน รวมถึงการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และส่งออกซึ่งเงินตราต่างประเทศ (สำหรับโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา) เป็นต้น.- สำนักข่าวไทย