กรุงเทพฯ 24 ธ.ค. – กระทรวงคมนาคมยืนยันพร้อมผลักดันให้เกิดบริษัทลูก หรือหน่วยธุรกิจ บริหารจัดการเดินรถไฟความเร็วสูง และพร้อมแก้กฎหมายให้บริหารงานเกิดความคล่องตัว
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงกรณีที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ศึกษาแนวทางการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาบริหารการเดินรถ โครงการรถไฟความเร็วสูงงานก่อสร้างระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นคราชสีมา และเสร็จปี 2564 และเริ่มทดสอบการเดินรถปี 2565 ก่อนเปิดให้บริการจริงแก่ประชาชนปี 2566 จึงต้องเตรียมความพร้อมในส่วนหน่วยงานที่จะบริหารเดินรถ ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงคมนาคมเห็นว่าสามารถจัดตั้งบริษัทลูกหรือหน่วยธุรกิจของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขึ้น แต่ทำอย่างไรการบริหารงานจะคล่องตัวไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนการจัดตั้งบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานที่บริหารเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ ในช่วงเริ่มต้นที่ผูกการบริหารและเบิกจ่ายงบประมาณต่าง ๆ จาก รฟท.
นายไพรินทร์ กล่าวว่า จะพยายามให้การบริหารงานหน่วยงานที่เกิดขึ้น มีความคล่องตัวมากที่สุด ทั้งในแง่การบริหารจัดการที่เป็นอิสระ งบประมาณค่าใช้จ่าย และเงินลงทุน โดยกระทรวงคมนาคมพร้อมหารือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง เพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณต่าง ๆ ของหน่วยงานนี้ คล่องตัวและหากจำเป็นต้องแก้กฎหมายก็ต้องทำ เชื่อว่ารูปแบบการบริหารจัดการหน่วยงานรถไฟความเร็วสูงจะชัดเจน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการศึกษาของกระทรวงคมนาคม พุ่งเป้าลดปัญหาความซ้ำซ้อนของการจัดการ เช่น รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิ้งค์ ในอดีตที่มีบอร์ดของตนเองเมื่อทำโครงการใช้จ่ายงบและลงทุน เมื่อผ่านบอร์ดแอร์พอร์ตลิ้งค์แล้ว ก็ต้องนำไปเสนอบอร์ดของ รฟท.อีกขั้นหนึ่ง ขณะที่ รฟท.หน่วยงานแม่ก็มีปัญหาขาดทุน และเป็นรัฐวิสาหกิจที่ระเบียบการเบิกจ่ายงบประมาณของตนเอง ปัญหาเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อการใช้งบประมาณทั้งด้านบุคลากรและงบซ่อมบำรุง การจัดซื้ออะไหล่ และการจัดหารถใหม่ที่ล่าช้ามาโดยตลอด ตามที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้. – สำนักข่าวไทย