กรุงเทพฯ 18 ธ.ค. – BCPG จับมือสตาร์ทอัพจากออสเตรเลีย ให้บริการ“Blockchain Technology”
นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) และ นายเดวิด มาร์ติน กรรมการผู้จัดการและหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท พาวเวอร์เล็ดเจอร์ (Power Ledger) ประเทศออสเตรเลีย ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ในการนำ “Blockchain Technology” มาเป็นกลไกในการบริหารจัดการซื้อขายไฟฟ้าผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นรายแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในต้นปี 2561ในพื้นที่คอมมูนิตี้มอลล์ T77 ถนนสุขุมวิท ของ บมจ.แสนสิริ โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะประหยัดค่าไฟฟ้าร้อยละ 10-15ความร่วมมือ ไม่จำกัดอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น โดยทั้งสองตั้งเป้าร่วมมือกันขยายธุรกิจในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่อไป
นายบัณฑิต กล่าวว่า พาวเวอร์เล็ดเจอร์ เป็นบริษัทสตาร์ทอัพด้านพลังงานแสงอาทิตย์จากประเทศออสเตรเลีย ในโครงการความร่วมมือใช้แนวคิดเรื่อง distributed energy นำเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกอย่าง Blockchain มาใช้ โดยใช้ Internet of Energy ซื้อขายไฟฟ้าผ่านอินเทอร์เน็ตจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและของรัฐบาลในการลงทุน สร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพื่อตอบสนองความต้องการการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ลูกค้าและผู้บริโภคก็มีทางเลือกมากขึ้นด้วยการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Peer-to-Peer โดยนอกจากผู้บริโภคจะผลิตไฟฟ้าได้เอง ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าแล้ว ยังช่วยเพิ่มรายได้ให้จากการขายไฟฟ้าส่วนเกินได้อีกด้วย ผู้ร่วมโครงการ ของบีพีซีจีก็มีหลากหลาย ทั้งในรูปแบบของที่อยู่อาศัย ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน โรงพยาบาล นิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น
“ในปีหน้า BCPG จะลงทุนในการติดตั้งsolar rooftop ในปีหน้าราว 30 MW วงเงิน1-2 พันล้านบาท พื้นที่ติดตั้งมีทั้งโครงการอสังหาริมทรัพย์ อาคารพาณิชย์ และนิคมอุตสาหกรรมแล้วยังจะติดตั้งในปั๊มบางจาก 50-100 แห่งด้วย” นายบัณฑิตกล่าว
นาย เดวิด มาร์ติน กรรมการผู้จัดการ บริษัท พาวเวอร์เล็ดเจอร์ เปิดเผยว่า การพัฒนา Microgrid จะช่วยให้การบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น ซึ่งBlockchain Technology จะเปลี่ยนโลกโดยการลดขั้นตอนที่ซับซ้อนของการทำธุรกรรมที่ต้องกระทำผ่านคนกลาง ทำให้เกิดธุรกรรมแบบ peer-to-peer ที่จะเกิดขึ้นแบบ real-time ในการซื้อขายใดๆ ซึ่งหมายถึงการ disrupt อุตสาหกรรมพลังงานโดยไม่ทำลายคุณค่า ในตลาดพลังงานส่วนใหญ่ การซื้อขายไฟฟ้าต้องใช้หน่วยงานกลาง มาช่วยในการบันทึกการซื้อขายและการชำระค่าใช้จ่าย แต่ใน distributed energy markets นั้น blockchain จะช่วยให้เกิดการทำธุรกรรมที่สามารถเกิดขึ้นในเวลารวดเร็วและตรวจสอบได้- สำนักข่าวไทย