กทม. 12 ธ.ค. – กว่า 10 ปี หลัง กทม.บูรณปฏิสังขรณ์ด้วยการเปลี่ยนเสาใหม่เมื่อปี 2549 ถึงเวลาอันควรฤกษ์งามยามดี กทม.ลั่นฆ้องทำพิธีบวงสรวงเสาชิงช้า ก่อนซ่อมแซม ทาสี บูรณะครั้งใหญ่ เปรียบดั่งเป็นการเตือนสติตามความเชื่อศาสนาพราหมณ์ คาดแล้วเสร็จเดือนมีนาคมปีหน้า
เสียงสังข์ ลั่นฆ้องดังใจกลางเมืองกรุง ที่ตั้งเสาชิงช้า สัญลักษณ์อันโดดเด่นของกรุงเทพมหานคร มานานกว่า 200 ปี แสดงถึงการประกอบพิธีบวงสรวงเสาชิงช้าเริ่มขึ้นแล้ว หลังปี 2549 ได้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ผ่านไปกว่า 10 ปี กทม.ถือวันนี้เป็นฤกษ์งามยามดี ซ่อมแซ่ม-ทาสี ฉาบปูน บริเวณที่มีรอยร้าว สีซีด ชำรุดตามกาลเวลา
เสาชิงช้าขนาดสูงกว่า 21 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางฐานกลมกว่า 10 เมตร ถูกติดตั้งนั่งร้าน พร้อมนำสแลนมาคลุมบริเวณโดยรอบ และได้ซ่อมแซมไปแล้วบางส่วน คาดปรับปรุงแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคมปีหน้า ตามกรอบระยะเวลาดำเนินการ 150 วัน ใช้งบกว่า 2 ล้านบาท ยืนยันทุกขั้นตอนทำงานร่วมกับกรมศิลปากรอย่างใกล้ชิด
โดยถือคติว่าจะทำให้พระนครมีความมั่นคงแข็งแรง สำหรับการบูรณะซ่อมแซมมีนัยสำคัญ เพื่อเตือนสติผู้ใหญ่ในบ้านเมืองให้ทบทวนการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชน
เสาชิงช้าสร้างขึ้นปี 2327 เพื่อประกอบการโล้ชิงช้า เป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ได้บูรณะอย่างต่อเนื่อง ต่อมาเกิดความเสียหายเนื้อไม้ชำรุดผุ ทุกส่วนไม่อาจซ่อมแซมได้ จนปี 2549 จึงเปลี่ยนเสาใหม่ ใช้ไม้สักทองจาก จ.แพร่ แม้เวลาจะผ่านไปเพียงใด เสาชิงช้ายังคงโดดเด่น ตั้งตระหง่าน เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาซึมซับประวัติศาสตร์อันยาวนานของกรุงรัตนโกสินทร์สืบไป. – สำนักข่าวไทย