กรมอนามัย 7ธ.ค.-กรมอนามัย พบคนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง 14 ชั่วโมงต่อวัน แนะแต่ละกลุ่มวัยมีกิจกรรมทางกาย กลุ่มเด็กปฐมวัย 0-5 ปีอย่างน้อย180 นาทีต่อวัน ,เด็กวัยเรียนวัยรุ่น 60 นาทีต่อวัน วัยผู้ใหญ่และวัยสูงอายุ 150 นาที รวมทั้งลดการใช้โทรศัพท์มือถือ หรือการดูโทรทัศน์
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยในงานแถลงข่าวการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับประชาชน ณ ห้องประชุมกำธร สุวรรณกิจ กรมอนามัย ว่า จากผลสำรวจสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายของประชาชนไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ประชาชน 1 ใน 3 มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่นจำนวนถึง 2ใน 3 มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ แต่กลับมีพฤติกรรมเนือยนิ่งมากถึง14 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งพฤติกรรมเนือยนิ่ง หรือการนั่งติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจและสมองการแก้ไข
นพ.วชิระ กล่าวว่า ปัญหาการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอของประชาชนที่ผ่านมา กรมร่วมกับภาคีวิชาการได้ศึกษาพัฒนาข้อแนะนำการมีกิจกรรมทางกายในประชาชนแต่ละกลุ่มวัย ได้แก่ สตรีตั้งครรภ์และหลังคลอดเด็กปฐมวัย วัยเรียนวัยรุ่น วัยทำงาน และวัยสูงอายุ โดยการทบทวนหลักฐานทางวิชาการทั้งในและนอกประเทศและประชุมผู้เชี่ยวชาญจนได้ข้อแนะนำที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของคนไทยและสื่อสารเผยแพร่ให้ประชาชนนำไปปรับใช้เพื่อสุขภาพที่ดี
ด้านนพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผอ.สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การมีกิจกรรมทางกายของประชาชนแต่ละกลุ่มวัยมีความแตกต่างกัน โดยกลุ่มหญิงตั้ง ครรภ์สามารถมีกิจกรรมทางกายได้เหมือนคนปกติแต่มีข้อควรระวังในบางไตรมาส ,ขณะที่เด็กปฐมวัย0-5 ปีควรมีกิจกรรมทางกายหนักเบาผสม ผสานกันอย่างน้อย180 นาทีต่อวัน ,เด็กวัยเรียนวัยรุ่น ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงหนักอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน,
วัยผู้ใหญ่และวัยสูงอายุ ควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง อาทิ การเดินไปตลาด การปั่นจักรยานไปทำงาน การทำงานบ้าน อย่างน้อย 150 นาที หรือระดับหนัก อาทิการวิ่ง การว่ายน้ำรำวงย้อนยุค อย่างน้อย75นาที สัปดาห์ รวมทั้งฝึกสมดุลร่างกายเพิ่มเติมในผู้สูงวัย และลดการใช้โทรศัพท์มือถือ หรือการดูโทรทัศน์ ให้น้อยที่สุด.-สำนักข่าวไทย