กรุงเทพฯ 2 ธ.ค.-นายกรัฐมนตรี ย้ำยังไม่ได้ตัดสินใจจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน”เทพา”
วอนทุกฝ่ายดูข้อเท็จจริง พร้อมรับฟังทุกช่องทาง แจง กฟผ.
มีแผนป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม การย้ายโรงเรียนมีผู้ยอมรับ ในขณะที่แผนก่อสร้างก็ทำเพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าและไฟฟ้าใต้ไม่ขาดแคลน
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม 2560 โดยกล่าวว่า เรื่องโรงไฟฟ้าที่ภาคใต้
เป็นประเด็นสำคัญ ประเด็นร้อน ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
ไปดำเนินการให้ได้ข้อยุติปราศจากความขัดแย้ง
รัฐบาลไม่อยากจะดึงดันอะไรกับใครทั้งสิ้น เพราะต้องคำนึงถึงต้นทุนในการก่อสร้าง
พื้นที่ในการก่อสร้าง แล้วก็ความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า หลายคนก็บอกว่าค่าไฟฟ้าแพง
อยากให้ค่าไฟฟ้าลดลง ค่าไฟฟ้าจะลดลงไม่ได้ถ้าการผลิตต่าง ๆ ไฟฟ้าจากพลังงานหลักนี่
มาจากส่วนกลาง หรือในภาคอื่น แล้วส่งลงไปพื้นที่ห่างไกล เพราะต้องบวกต้นทุนในเรื่องของการทำสายส่งเข้าไปด้วย
เพราะฉะนั้นต้นทุนจะเกิดจากแหล่งที่ก่อให้เกิดพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นแก๊ส เป็นน้ำมัน
เป็นถ่านหิน ลิกไนต์
อะไรก็แล้วแต่ แล้ววันนี้มีเทคโนโลยีมากมายที่จะแก้ปัญหาเดิม ๆ ได้
เพราะฉะนั้นนี่คือต้นทุนอันที่หนึ่ง อันที่สองคือเทคนิคในการก่อสร้างโรงงาน
ก็แพงขึ้นเครื่องไม้เครื่องมือก็แพงขึ้น อันที่สามคือสายส่ง
ซึ่งเหล่านี้จะทำให้บวกเข้าไปในค่าต้นทุน
“คราวนี้สมมุติว่าไปสร้างในพื้นที่ห่างไกล
ได้ก็จะลดในส่วนนี้ ไม่ต้องไปลากมาจากไกล ๆ ถ้ามีปัญหาอีก
ก็ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องความพลังงาน เกิดไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ จะทำอย่างไร หากไปซื้อมาจากต่างประเทศ
ซึ่งวันนี้ก็ซื้อได้ แต่ถ้าวันหน้าเขาขายน้อยลง หรือเขาตั้งราคาขายสูงขึ้น
แล้วเราจะทำยังไง จะมีคำตอบหรือไม่ว่า เราจะดูแลประชาชนเราได้อย่างไร
ก็อยากให้คำนึงถึงทุกมิติเหล่านี้ เหล่านี้คือต้นทุนการไฟฟ้าทั้งสิ้น ฝากทุกคนช่วยกันคิดด้วยแล้วกัน ผมก็ไม่ได้บอกว่า ต้องอย่างนี้
ต้องอย่างนั้น เพียงแต่ผมเสนอแนวทาง เสนอหนทางปฎิบัติ กระทรวงพลังงานเขามีหน้าที่ในการหาไฟฟ้า
หาพลังงาน มีกฎหมายของเขาด้วย” พลเอกประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ทุกคนต้องฟังเหตุฟังผลซึ่งกันและกัน ที่ผ่านมา
ทางราชการมีการ บังคับใช้กฎหมาย เพราะไม่อยากให้ปัญหาลุกลามบานปลาย ประชาชนก็ต้องเคารพกฎหมาย การที่จะส่งข้อมูลอะไรถึงนายกรัฐมนตรี ก็มีหลายช่องทาง พร้อมจะฟังทุกวัน
แล้วก็เรื่องไฟฟ้า ถ่านหินเทพา ไม่ว่าจะกระบี่ อะไรต่าง ๆ ข้อมูลมีทั้งหมด มีทั้ง
2 ทาง ทั้งภาคประชาชนและภาคราชการ ทางรัฐบาลพร้อมจะตอบคำถามทุกคำถาม
แล้วก็ฟังทุกคน โดยเรื่องโรงไฟฟ้าก็มีประเด็นหลายประเด็นที่มีข้อสงสัย ซึ่งขณะนี้ไม่ได้พูดถึงว่าจะสร้างได้หรือไม่ได้ แต่ติดปัญหาที่มีข้อสงสัยได้แก่
(1) การย้ายวัดและโรงเรียน
โดยเฉพาะโรงเรียนมูลนิธิอิตีซอมวิทยา ก็มีการหารือในพื้นที่ไปแล้ว
ว่าจะมีการเคลื่อนย้ายไปพื้นที่แห่งใหม่ จะห่างจากที่ตั้งเดิมไม่เกิน 5 กิโลเมตร ข้อมูล ส่วนหนึ่งที่ว่า 5 หมื่นคน มีความพอใจ
ก็ไม่ทราบว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นตรงนี้
(2) การโยกย้ายประชาชน วันนี้ก็ยังไม่เกิดอะไรขึ้น เพราะยังไม่ได้เริ่ม
เพราะฉะนั้นถ้าผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ถึงจะไปเริ่มต้น ก็ต้องไปดูเรื่องการเยียวยา
การดูแลที่อยู่อาศัย หรือค่าเยียวยาต่าง ๆ ให้เหมาะสม วันนี้ยังอยู่ในขั้นการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
( EIA)
และผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA )
(3)เรื่องสิ่งปลูกสร้างในทะเลจะกีดขวางการไหลของน้ำ
ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งหรือไม่
วันนี้ก็ได้มีการพูดคุยกันล่วงหน้าไปแล้วในพื้นที่ ประชาชนที่ฟังมีความเข้าใจ
ส่วนที่ไม่ฟังเหตุผลก็ไม่เข้าใจ โดยมีการกำหนดมาตรการรองรับชัดเจน
เช่น การทำเขื่อนป้องกัน จึงไม่มีผลกระทบต่อการสัญจรทางเรือ ชีพประมง
และการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งช่วงการก่อสร้างมันก็มีผลกระทบอยู่บ้างในช่วงแรก
พอสร้างเสร็จแล้ว ปลา สัตว์น้ำ ก็จะกลับเข้ามาอยู่ใหม่เหมือนเดิม ไม่ใช่หายไปหมด
(4) การใช้ถ่านหินคุณภาพดี ประเภท “บิทูมินัส” และ “ซับบิทูมินัส” เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ
ด้วยเรือบรรทุกแบบปิดที่เรียกว่า “ระบบปิด” คลุมทุกอย่าง ไม่มีการใช้ถ่านหินจากแหล่งในประเทศ
ที่มีการกล่าวอ้างกัน บอกว่ามีถ่านหิน “ลิกไนต์” อยู่ในประเทศ รัฐบาลต้องการตรงนี้เพื่อจะไปขุดถ่านหินลิกไนต์
เอามาใช้เอื้อประโยชน์กับนายทุนอีก เป็นคนละเรื่อง
ซึ่งข้อมูลไม่ตรงกันเลย เราใช้เทคโนโลยีใหม่ทั้งหมด
เท่าที่ผมศึกษาดูของโรงงาน เทคโนโลยีใหม่ทั้งหมด ซึ่งแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม กรณีที่แม่เมาะ จ.ลำปาง วันนี้เปลี่ยนเครื่องจักรเครื่องมือ
แล้วผมไม่เห็นมีปัญหาอะไร คนก็อยู่ได้ ปลา สัตว์ ต้นไม้ต่าง ๆ ก็อยู่ได้เป็นปกติ
(5)
การใช้น้ำทะเลเป็นน้ำหล่อเย็น มีระบบกำจัดการสะสมของโลหะหนัก ที่ทุกคนเป็นห่วง มีการควบคุมการปรับคุณภาพน้ำ
ก่อนที่จะระบายสู่ทะเลธรรมชาติให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ประเภท 1 คือ
ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล โดยเราก็ใช้สัตว์น้ำ อาทิ หอยแครง หอยแมลงภู่ เป็นตัวชี้วัดทางชีวภาพ
ณ จุดปล่อยน้ำ อันนี้ถ้าสร้างได้ก็ไปช่วยดูแล้วกัน มีตาย มีอะไรหรือไม่
อันนี้เป็นหลักการทางเทคนิค ขอให้เชื่อมั่นว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ต้องการควบคุม
ด้วยเทคโนโลยีที่ศึกษามา
“ผมขออนุญาตนำเฉพาะประเด็นที่สงสัยกันมานำเสนอ
ให้ทุกคนได้พิจารณาร่วมกัน ส่วนรายละเอียดอื่น
ๆ นั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบ กระทรวงพลังงาน และผู้ว่าราชการจังหวัดก็ต้อง
มีข้อมูลพร้อมตอบ และสร้างความเข้าใจ ฝากพี่น้องประชาชนที่เห็นด้วย
ช่วยกรุณาทำความเข้าใจกับผู้ไม่เห็นด้วยด้วย อย่าให้รัฐบาลต้องไปตัดสินเลย
ก็จะเป็นปัญหากระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนอีก แล้วเราก็จะถูกจับตามองอย่างที่ท่านกล่าวอ้าง ข้าราชการ ประชาชน ภาคเอกชน
ก็ต้องร่วมมือหารือกัน เพราะว่าเราต้องพัฒนาไปสู่การมีแหล่งพลังงานที่เหมาะสม
เพียงพอเพื่ออนาคต เพราะเราจะลงทุนต่าง ๆ มากมาย ถ้าไฟฟ้าไม่พอ ไม่มั่นคง ติด ๆดับ ๆ
หรือไฟฟ้าตก อันนั้นอันตรายต่อไป
หรือหากอยากซื้อจากต่างประเทศทั้งหมด แล้วไม่มีการส่งพลังงาน
ท่อแก๊สมาจากต่างประเทศ ประเทศเพื่อนบ้าน
ไม่มีขายไฟฟ้าต่อไป เพราะว่าเขาเอาไว้ใช้ในประเทศของเขา เราจะทำอย่างไร
คิดอนาคตไว้ด้วย”นายกรัฐมนตรีกล่าว
– สำนักข่าวไทย